พาราสาวะถี
ช่วงนี้โพลต่าง ๆ จะเร่งดำเนินการเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความนิยมในตัวผู้สมัครพรรคการเมือง
ช่วงนี้โพลสำนักต่าง ๆ จะเร่งดำเนินการเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความนิยมในตัวผู้สมัคร พรรคการเมือง และบุคคลที่จะเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะสัปดาห์สุดท้ายก่อนหย่อนบัตรจะทำเช่นนี้ไม่ได้ เข้าข่ายการชี้นำ ความคึกคักจึงจะปรากฏกันในเวลานี้ และจะไปเข้มข้นกันอีกทีก็หลังจากปิดหีบเลือกตั้งไปแล้ว ซึ่งตรงนั้นก็จะได้รู้ว่าสำนักไหนแม่นกว่ากัน หรือจะมีการหลอกโพลอีกหรือไม่
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยของการเลือกตั้ง ตัวแปรที่ไม่เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และความเชื่อว่า กกต.ในฐานะผู้กำกับดูแลการเลือกตั้งจะทำทุกอย่างให้เรียบร้อย ไม่มีปัญหาต้องมารอตีความเหมือนคราวก่อน ผลโพลและผลการเลือกตั้งเที่ยวนี้ ไม่น่าจะต่างกันเท่าไหร่ อาจมีเพียงบางสำนักโพลเท่านั้นที่แสดงตัวตนชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าสนับสนุนใครเป็นด้านหลัก มันจึงปรากฏเป็นผลในเรื่องของเสียงจากกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการจะให้พรรคไหนจับมือกันตั้งรัฐบาล
อาจจะมีตัวเลือกให้กลุ่มตัวอย่างได้เลือกตอบตามโจทย์ที่ถูกตั้งไว้แล้ว ผลจึงออกมาเช่นนั้น ทั้งที่ในความจริงต้องไปถามพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน โอกาสของการจับมือกันบริหารประเทศยังมีอยู่หรือไม่ ย้ำแล้วย้ำอีก ผลการเลือกตั้งกรณีเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ หรือขอแรงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอีกแค่พรรคหรือสองพรรคการเมืองก็จะปิดสวิตช์ ส.ว.ได้ นั่นเป็นโอกาสของพรรคขั้วที่ 3 ที่จะเสนอตัวเข้ามาเป็นแกนหลักในการตั้งรัฐบาล
อย่าสงสัยกันว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อพรรคที่ชนะเลือกตั้งซึ่งเชื่อกันว่าคะแนนเสียงจะทิ้งขาดอันดับสองขาดลอย จะไม่สามารถเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลได้ มันขึ้นอยู่กับเสียงที่จะมาเติมเต็มเพื่อลดการพึ่งพิงเสียงจาก ส.ว.ลากตั้งนี่แหละ ดังนั้น เมื่อชนะไม่ขาด แต่อีกฝ่ายก็จะจับมือกันตั้งรัฐบาลโดยอาศัยเสียงของ ส.ว.ลากตั้งมาโหวตให้เป็นนายกฯ คะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่เกินกึ่งหนึ่ง มันจึงเป็นช่องของคนที่จะเป็นแกนกลางในการพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง
กระแสข่าวก่อนหน้าที่ว่าพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.มีการต่อสาย เปิดดีลถูกวางตัวให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 จึงไม่ใช่เรื่องข่าวปล่อยไม่เป็นจริง ทุกอย่างล้วนมีมูล โดยขั้วที่สามที่มีคนใช้ใจบันดาลแรงเป็นผู้นำนั้นไม่เพียงแต่มีพรรคการเมืองที่ประกาศจับมือกันไว้ล่วงหน้าที่เชื่อว่าจะมีเสียงมากพอในการต่อรองกับพรรคที่ชนะเลือกตั้งเพื่อให้รับเงื่อนไขของตัวเอง อีกด้านก็ยังมีคอนเนคชั่นกับ ส.ว.ลากตั้งที่บอกมาโดยตลอดว่า ส.ว.สายนี้เหนียวแน่นและเชื่อใจพี่ใหญ่มากกว่าน้องเล็ก
อย่างไรก็ตาม การเมืองเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะการใช้กลเกมเล่ห์เหลี่ยมเพื่อที่จะให้คู่แข่งเสียรังวัด ดังนั้น ในช่วงโค้งสุดท้ายไม่เฉพาะพรรคฝ่ายค้าน แต่พรรคที่ร่วมรัฐบาลปัจจุบันก็เฝ้าจับตาดูการขับเคลื่อนของพรรคผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ จะงัดไม้เด็ดอะไรมาเรียกคะแนนนิยม ซึ่งเชื่อกันว่าจะมาพร้อมกับข่าวที่ดิสเครดิตพรรคคู่แข่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย หรือแม้แต่พลังประชารัฐและภูมิใจไทย
ผลการสำรวจความเห็นที่ดำเนินการโดยพรรคการเมืองแต่ละพรรคเองนั้น ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าเสียงของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน จะเทไปที่พรรคเพื่อไทย รวมทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกจากเดิมที่เป็นความหวังของพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมไปถึงประชาธิปัตย์ แต่หลังจากที่บ้านใหญ่ทั้งชลบุรีและ
ฉะเชิงเทราจับมือกันแน่น มันจึงเป็นงานยากขึ้นมาทันที มิหนำซ้ำ ยังมีพรรคก้าวไกลที่เป็นตัวเบียดแทรกและทำท่าว่าจะกระแสแรงเสียด้วย
มันจึงเหลือพื้นที่อันเป็นความหวังและจะห้ำหั่นกันอย่างหนักหน่วงคือ ภาคกลาง กทม.และภาคใต้ ในส่วนของภาคกลางนั้นน่าจะเป็นการเลือกแบบกระจายตัวได้ ส.ส.กันเกือบครบทุกพรรคสำหรับพรรคการเมืองขนาดกลางและใหญ่ ที่ฟันธงไว้ตั้งแต่ต้นคือ กทม.และภาคใต้จะเป็นสนามที่ห้ำหั่นกันดุเดือด สนามเมืองหลวง เดิมทีเคยเป็นการต่อสู้กันระหว่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ แต่การเลือกตั้งปี 2562 กลับเป็นพลังประชารัฐ เพื่อไทย และก้าวไกล
หนนี้ประชาธิปัตย์ก็ต้องการจะทวงแชมป์คืน เพื่อไทยก็หวังจะได้ ส.ส.จำนวนที่เพิ่มขึ้น พลังประชารัฐก็ไม่ยอมหลายพื้นที่เป็นความหวัง แต่กลับมีขวากหนามใหม่ที่กวาดต้อนเอา ส.ส.จากทั้งเพื่อไทย พรรคเก่าแก่และพรรคสืบทอดอำนาจไปเข้าก๊วนหวังปักธงได้ ส.ส.ในกทม.และมีความเป็นไปได้สูงนั่นก็คือภูมิใจไทย มิหนำซ้ำ ยังมีไทยสร้างไทยของ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่บางพื้นที่ตัวผู้สมัครถือว่าเป็นสายแข็ง เช่นเดียวกันรวมไทยสร้างชาติของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ยังมีกองเชียร์มอบนกหวีดที่เหนียวแน่นในบางแห่ง
ที่ขาดไม่ได้คือก้าวไกล เพราะเริ่มมีกระแสข่าวว่าในหลายเขตคนกรุงเทพฯ ได้ตัดสินใจแล้วว่าเพื่อความเปลี่ยนแปลงจะไม่เลือกตัวบุคคลและพรรคเหมือนกัน โดย ส.ส.เขตจะเลือกคนของพรรคหนึ่ง แล้วปาร์ตี้ลิสต์ก็จะกาให้อีกพรรคหนึ่ง หากเป็นจริงตรงนี้ผลการเลือกตั้งก็จะคล้ายกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบที่ผ่านมา และเป็นอันว่าเครือข่ายของขบวนการสืบทอดอำนาจไม่ได้รับโอกาสจากคนเมืองหลวง แม้จะยังหลงเหลือผู้ที่ชื่นชอบผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อก็ตาม
ส่วนภาคใต้นั้นถือว่าตั้งแต่ชุมพรไปจรดพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ไม่สามารถฟันธงได้ว่าพรรคไหนจะกำชัยชนะเด็ดขาด เพราะตัวผู้สมัครของแต่ละเขตแต่ละจังหวัดของพรรคการเมืองคู่แข่งสำคัญนั้นล้วนแล้วแต่ชื่อชั้นไม่เป็นรองกัน บางเขตบางพื้นที่มีผู้สมัครที่อดีต ส.ส.และคนที่เป็น ส.ส.ปัจจุบัน สังกัดพรรคเดิมบ้าง เปลี่ยนสีเสื้อบ้าง ทำให้สีสันการเลือกตั้งแดนปักษ์ใต้รอบนี้ไม่ใช่ประเภทส่งเสาไฟฟ้าก็ชนะอีกแล้ว แม้แต่พวกที่เชื่อว่าจะได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำก็ยังไม่กล้าพูดเต็มปากเต็มคำ ถ้าเป็นภาษามวยก็อาจเรียกได้ว่าสนามภาคใต้จะเบียดแย่งกันจนวินาทีสุดท้าย ประเภทเฮียเส็งชี้แจงเฮียแสงชี้น้ำเงินกันเลยทีเดียว