‘ลมนอกชายฝั่ง’ ทางเลือกพลังงานสะอาด

ต้นปี 2023 ที่ผ่านมา MING Yang Smart Energy Group ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานสะอาดของจีน เปิดตัวกังหันลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก


ต้นปี 2023 ที่ผ่านมา MING Yang Smart Energy Group ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานสะอาดของจีน เปิดตัวกังหันลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยใบพัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 260 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 18 เมกะวัตต์ มีใบพัดที่ยาวกว่า 140 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ติดตั้ง 53,000 ตารางเมตร (เทียบเท่ากับพื้นที่ 9 สนามฟุตบอลรวมกัน) ถือว่าช่วยลดจำนวนกังหันลมที่ต้องติดตั้งและช่วยลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่งด้วย

การประกาศเปิดตัวของ MING Yang เกิดขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ หลังจาก China State Shipbuilding ประกาศสร้างกังหันทำลายสถิติตนเอง โดยการออกแบบและผลิตให้สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 18 เมกะวัตต์เช่นเดียวกันแต่มีขนาดใบพัดที่มีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย

ปัจจุบันจีนเป็นตลาดพลังงานลมใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่และมีแนวชายฝั่งที่ทอดยาว จึงเป็นประเทศที่มีทรัพยากรลมที่ยอดเยี่ยมเหมาะกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม โดยจีนถูกประเมินว่าสามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานลมบนบกได้กว่า 2,380 กิกะวัตต์ และอีก 200 กิกะวัตต์ เป็นลมในทะเล

สอดรับกับตัวเลขสถิติรอบปีผ่านมา พบว่า มีการยื่นประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งจำนวนมาก ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นอย่างมากช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ทั่วโลกพยายามอย่างหนัก เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ฟากผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมพลังงานลม ระบุว่าด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและปัญหาภาวะติดขัดของห่วงโซ่อุปทาน ได้กระทบต่อหลายโครงการ อีกทั้งขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเปิดตัวโครงการกังหันลมขนาดใหญ่ ที่พ่วงออกไปที่ทะเล ทำให้ความหวังที่จะใช้ประโยชน์ จากพลังงานลมจากมหาสมุทรอย่างเต็มที่ เพื่อจะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ อาจไม่ประสบความสำเร็จ

“เฟลิเป คอร์นาโก” ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ด้านพลังงานลมนอกชายฝั่ง BayWa ที่กำลังพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมชายฝั่งทะเลของสกอตแลนด์ ระบุว่า ถ้าอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า คือ การเห็นการนำเอาพลังงานลมลอยน้ำนอกชายฝั่งมาใช้กันแพร่หลาย และการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้นำไปสู่การเป็นตลาดชั้นแนวหน้า งานที่ทำในปี 2566 จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

จากข้อมูลของสภาพลังงานลมโลก (GWEC) ระบุว่า ประมาณ 80% ของโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง ตั้งอยู่ในน่านน้ำที่ลึกมากกว่า 60 เมตร หมายความว่า กังหันลมลอยน้ำจะสำคัญอย่างมากสำหรับบางประเทศ ที่มีพื้นที่เหลืออยู่บนบกจำนวนน้อยและมีที่ตั้งใกล้ชายฝั่งทะเลที่สูงชันในการลดจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมพลังงาน

ทั้งนี้ลมจะพัดแรงและต่อเนื่องมากกว่าเมื่อออกไปในทะเล ดังนั้นกังหันลมนอกชายฝั่ง จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าประเภทที่ยึดติดกับพื้นใต้ทะเลที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง และกังหันลมนอกชายฝั่งสามารถมองเห็นได้ยากกว่าจากชายฝั่ง ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการต่อต้านจากชุมชนท้องถิ่น

สภาพลังงานลมโลก ระบุว่า ปัญหาติดขัดในห่วงโซ่อุปทานสำหรับกังหันลมและอุปกรณ์ส่วนประกอบต่าง ๆ จะยังดำเนินต่อไปหรือแม้กระทั่งเพิ่มขึ้น โดยสิ่งกระตุ้นในสหรัฐฯ สำหรับการเตรียมการสำหรับพลังงานคาร์บอนต่ำ เช่นเดียวกันกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในจีน, ยุโรปและประเทศตลาดเกิดใหม่..!!

Back to top button