JMART บวกต่อ 2% รับแผนซื้อหุ้นคืน จับตา 9 พ.ค. ปรับทัพใหญ่

JMART บวกต่อ 2% รับแผนควัก 400 ล้าน ซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 16 ล้านหุ้น เรียกความเชื่อมั่น จับตา 9 พ.ค.นี้ปรับใหญ่แผนธุรกิจ SINGER-SGC


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 พ.ค.66) พบว่าราคาหุ้นบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ณ เวลา 10:09 น.อยู่ที่ระดับ 20.10 บาท บวกไป 0.30 บาท หรือขึ้นไป 1.52% โดยทำจุดสูงสุดที่ 20.20 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 19.60 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 114.08 ล้านบาท

ขณะที่ราคาหุ้น บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ณ เวลา 10:25 น. อยู่ที่ระดับ 2.46 บาท ลบไป 0.06 บาท หรือลดลง 2.38% โดยทำจุดสูงสุดที่ 2.52 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 2.44 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 12.88 ล้านบาท

ด้านบริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ณ เวลา 10:18 น. อยู่ที่ระดับ 39.75 บาท บวกไป 0.25 บาท หรือขึ้นไป 0.63% โดยทำจุดสูงสุดที่ 39.75 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 39.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 65.84 พันล้านบาท

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่านับจากต้นปี 66 ราคาหุ้น JMART ได้ปรับตัวลงต่อเนื่อง หรือจากระดับราคา 40.75 บาทต่อหุ้น ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2565 มาอยู่ที่ 18.60 บาท ที่เป็นราคาปิดของวันที่ 27 เม.ย. 2566 หรือเปลี่ยนแปลงลดลง 54.35%

อย่างไรก็ตามราคาหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 66 เจมาร์ทฯมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) เพื่อบริหารทางการเงิน วงเงินโครงการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 400 ล้านบาท จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนไม่เกิน 16 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หรือคิดเป็นจำนวนไม่เกิน 1.10% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด กำหนดระยะเวลาที่จะซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.-15 มิ.ย. 2566

ทั้งนี้เหตุผลในการซื้อหุ้นคืนของ JMART นั้นเพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัท ซึ่งงบประมาณในครั้งนี้เป็นเงินทุนที่คงเหลือภายหลังจากการบริหารจัดการวางแผนทางการเงิน และกันเงินทุนสำรองต่าง ๆ และเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่ส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) อัตรากำไรสุทธิ (EPS) และเพิ่มมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value Per Share) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น โดยที่เมื่อพิจารณาการนำจำนวนหุ้นบางส่วนที่บริษัทได้ทำการซื้อคืนมาหักลด จากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว ประกอบกับผลประกอบการในอนาคตของบริษัทจะเพิ่มผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยรวม

รวมถึงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น โดยที่บริษัทได้นำความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (Consensus) ที่ได้ประเมินมูลค่าบริษัทไว้มาประกอบการพิจารณาแบบระมัดระวังที่สุด

ด้านผลกระทบภายหลังซื้อหุ้นคืนต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผลเพิ่มขึ้น เนื่องจากหุ้นที่บริษัทซื้อคืนกลับไปจะไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล รวมถึงอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity) และกำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings per Share) จะสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนหุ้นที่จะนำมาคำนวณลดลง จึงทำให้ผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายจะได้รับเพิ่มขึ้น

สำหรับผลกระทบต่อบริษัท ทำให้บริษัทจะมีสินทรัพย์สภาพคล่อง และมูลค่าทางบัญชีของส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินที่ใช้ในการซื้อหุ้นคืน อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอ และได้มีการจัดการบริหารเงินทุนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การซื้อหุ้นคืนในครั้งนี้จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนธุรกิจ การลงทุน และการดำเนินงานของบริษัท

โดยในไตรมาส 2/2566 บริษัทจะได้รับเงินปันผลจากบริษัทย่อย บริษัทร่วมและบริษัทที่ลงทุน รวมประมาณ 590 ล้านบาท นอกจากนั้นบริษัทประมาณการว่าจะได้รับเงินปันผลอีกประมาณ 420 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ตามรายงานการใช้เงินเพิ่มทุนของบริษัทเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาบริษัทได้รายงานว่ามีเงินสดที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัดคงเหลืออยู่เพื่อการชำระคืนหนี้ภายในปี 2567 อีกประมาณ 1,524 ล้านบาทนั้น บริษัทได้จัดเตรียมและกันสำรองไว้แล้วสำหรับการชำระหุ้นกู้ 1,000 ล้านบาท และการชำระคืนหุ้นกู้ในรอบระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้านี้ โดยที่บริษัทไม่ได้นำเงินที่ยังคงเหลือจากการเพิ่มทุนดังกล่าวจำนวน 1,524 ล้านบาทมาใช้ซื้อหุ้นคืน

ด้านนายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจมาร์ทฯ กล่าวกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า การเข้าซื้อหุ้นคืนในครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าที่ผ่านมาราคาหุ้น JMART ลงมามากเกินไป หรือลงมาต่ำกว่าพื้นฐานของเจมาร์ทฯ ส่วนการคาดการณ์ผลประกอบการของเจมาร์ทฯ ในปีนี้ คงต้องรอตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1/2566 ออกมาก่อน

“มั่นใจว่าเจมาร์ทฯ จะมีผลประกอบการที่ดี และการซื้อหุ้นคืนจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน” นายอดิศักดิ์ กล่าว

นายอดิศักด์ กล่าวตอบคำถามเกี่ยวกับการลาออกของผู้บริหารระดับสูงในบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER และบริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ว่า ไม่สะดวกที่จะให้ความเห็น และคงต้องรอทั้งทางซิงเกอร์ และเอสจีฯ เป็นผู้ให้ข้อมูล โดยทราบมาว่าในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ จะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างใหญ่ของทั้งสองบริษัท

ขณที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการของ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย มีมติรับทราบการลาออกของนายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ จากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการ และกรรมการการลงทุนและบริหารความเสี่ยงของบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2566

ขณะเดียวกัน มีมติอนุมัติให้แต่งตั้งนายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการ และกรรมการการลงทุนและบริหารความเสี่ยงของบริษัท แทนกรรมการที่ลาออก (นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์) มีผลตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 2566

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 รับทราบการลาออกจากตำแหน่งของนายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ จากการดำรงตำแหน่งกรรมการ ประธาน กรรมการบริหาร และกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทน และบรรษัทภิบาล มีผลวันที่ 30 เม.ย. 2566 และรับทราบการลาออกของนายรักกิติ ตั้งล้ำเลิศ จากการดำรงตำแหน่งกรรมการ มีผลวันที่ 30 เม.ย. 2566

พร้อมอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการใหม่แทนกรรมการที่ลาออก ด้วยการแต่งตั้งนายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทน และบรรษัทภิบาล แทนนายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของนายกิตติพงศ์ และให้การแต่งตั้งมีผลตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 2566

นอกจากนี้ อนุมัติการแต่งตั้งนายอโณทัย ศรีเตียเพ็ชร ให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ แทนนายรักกิติ ตั้งล้ำเลิศ ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของนายรักกิติ ตั้งล้ำเลิศ และให้การแต่งตั้งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2566

Back to top button