ADVANC แย้มงบ Q2 สดใส รับ “อาปู้” เร่งตัว มั่นใจดันรายได้ปีนี้โต 5%
ADVANC แย้มงบไตรมาส 2/65 สดใส รับยอด "อาปู้" เร่งตัว แถมธุรกิจมือถือ-อินเตอร์เน็ตบ้านหนุนเด่น มั่นใจดันรายได้ธุรกิจหลักปีนี้โต 3-5% ลุ้นปิดดีลควบรวม 3BB ในไตรมาส 3/66
นางสาวสมฤทัย ตัณฑกิตติ หัวหน้าแผนกงานนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ว่า ในช่วงไตรมาส 1/66 เศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางจากสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในขณะที่สามารถเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และสถานการณ์เงินเฟ้อที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น
โดยไตรมาส 1/66 เอไอเอส มุ่งเน้นการเติบโตในรายได้ที่สามารถสร้างผลกำไรให้แก่บริษัท โดยรายได้จากการให้บริการหลัก อยู่ที่ 33,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสงูอยู่ที่ 2,710 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปีก่อน และธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร อยู่ที่ 1,564 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามความต้องการในผลิตภัณฑ์ประเภทคลาวด์และไอซีทีโซลูชั่น สอดคล้องไปกับแนวโน้มการเติบโตด้านดิจิทัลในประเทศไทย
ส่งผลให้ในไตรมาส 1/66 เอไอเอสมีรายได้รวมอยู่ที่ 46,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากปีก่อน แสดงถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมกับการเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและคุณภาพและความครอบคลุมของโครงข่าย 5G และเน็ตบ้านอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้นความสามารถในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ EBITDA อยู่ที่ 22,636 ล้านบาท เติบโต 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ในไตรมาส 1/66 บริษัทมีกำไรสุทธิ 6,757 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2566 บริษัทฯ เอไอเอสได้วางเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงองค์กรจาก ผู้ให้บริการดิจิทัลไลฟ์ (Digital Life Service Provider) สู่ Cognitive Tech-Co ด้วยการพัฒนารากฐานสำคัญ 3 แกน ได้แก่ 1.โครงข่ายอัตโนมัติ(Autonomous Network), 2.ระบบไอทีอัจฉริยะ (IT Intelligence) และ 3.การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อผลักดันการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจดังนี้
-ธุรกิจกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตแม้ว่าภาพการแข่งขันยังคาดเดาได้ยาก เอไอเอสยังคงเน้นการเติบโตในส่วนแบ่งทางการตลาดที่สร้างผลกำไรด้วยการส่งมอบประสบการณ์ 5G ที่เหนือระดับทั้งในด้านคุณภาพและความครอบคลุมของโครงข่าย รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดความแตกต่างผ่านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ร่วมกับพันธมิตรเพื่อดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าด้วยข้อเสนอที่เน้นความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) และตอบสนองลูกค้าได้ทันท่วงที(Real-time)
-ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านเติบโตก้าวกระโดดด้วยคุณภาพและความครอบคลุมในการให้บริการ ด้วยกลยุทธ์การให้บริการที่หลากหลายในแพ็กเกจเดียว(Fixed-Mobile-Convergence) เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับสูง โดยเน้นคุณภาพและบริการที่แตกต่างสำหรับความต้องการของครอบครัว (Home Solutions) และการเข้าถึงพื้นที่การให้บริการใหม่ ๆ บริษัทมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้เล่นรายหลักที่มีการเติบโตของผู้ใช้บริการเติบโตในระดับเลขสองหลักของรายได้ และตั้งเป้าหมายในการสร้างฐานลูกค้ากว่า 2.5 ล้านรายในปีนี้
-ธุรกิจกิจบริการลูกค้าองค์กรเติบโตด้วยแนวโน้มดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งของเอไอเอสที่มีพันธมิตรชั้นนำที่หลากหลายพร้อมกับเทคโนโลยี 5G และโซลูชั่นอัจฉริยะที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล เอไอเอสตั้งเป้าหมายการเติบโตในธุรกิจจากผลิตภัณฑ์กลุ่ม CCIID (Cloud, Cyber security, IoT, ICT Solutions, Data Center) พร้อมกับ 5G NextGen Platform และ Cloud X ที่รองรับอธิปไตยของข้อมูล (Data Sovereignty) โดยเน้นบริการใน 4 ภาคอุตสาหกรรม คือ การผลิต ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และการขนส่ง
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2566 คาดว่ารายได้จากการให้บริการหลักเติบโตประมาณร้อยละ 3-5% หลักๆมาจากการฟื้นตัวธุรกิจมือถือ และธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน ในขณะที่ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของ EBITDA เป็นเลขหลักเดียวกลาง ๆ และยังคงงบลงทุน (capex) ปี 66 ไว้ราว 2.7-3.0 หมื่นล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มผลงานไตรมาส 2/66 คาดสดใส ตามรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (Average Revenue Per User) หรือ ARPU (อาปู้) คาดเริ่มเร่งตัวขึ้นจากการปรับแพ็กเกจราคาถูก เพื่อหนุนให้รายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น และจากจำนวนผู้ใช้บริการใหม่ รวมทั้งธุรกิจมือถือและธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้านหนุนเด่น
ส่วนดีลเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต 3BB อยู่ในช่วงกสทช.ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อประเมินผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรม โดยคาดจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน โดยคาดจะอนุมัติดีลควบรวมได้ประมาณไตรมาส 3/66
ด้านความคืบหน้าการตั้ง “Virtual Bank” หรือ “ธนาคารเสมือนจริง” บริษัทมองธุรกิจนี้น่าสนใจ และการที่บริษัทมีฐานลูกค้าน่าจะสามารถตอบโจทย์ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ในการตั้งเป้าหมายเพื่อขยาย “เวอร์ชวลแบงก์” โดยขณะนี้รอให้ธปท. ออกเกณฑ์การจัดตั้งซึ่งคาดว่าจะชัดเจนในช่วงไตรมาส 4/66