พาราสาวะถีอรชุน

พรุ่งนี้วันรัฐธรรมนูญ แต่ประเทศไทยยังไร้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร มีเพียงกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับชั่วคราว 2557 และมาตรายาวิเศษ ม.44 ที่ใช้กำราบได้ทุกเรื่อง ไม่รู้ว่านักประชาธิปไตยทั้งหลายจะรู้สึกอย่างไร แต่คงไม่ต้องไปถามถึงคนเดือนตุลาที่เคยเรียกร้องถามหาประชาธิปไตย วันนี้ส่วนที่เหลือซึ่งยังคงยึดมั่นอุดมการณ์กลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ที่มีเสียงแต่ไร้พลัง


พรุ่งนี้วันรัฐธรรมนูญ แต่ประเทศไทยยังไร้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร มีเพียงกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับชั่วคราว 2557 และมาตรายาวิเศษ ม.44 ที่ใช้กำราบได้ทุกเรื่อง ไม่รู้ว่านักประชาธิปไตยทั้งหลายจะรู้สึกอย่างไร แต่คงไม่ต้องไปถามถึงคนเดือนตุลาที่เคยเรียกร้องถามหาประชาธิปไตย วันนี้ส่วนที่เหลือซึ่งยังคงยึดมั่นอุดมการณ์กลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ที่มีเสียงแต่ไร้พลัง

ผิดกับคนบางพวกที่อาศัยความเป็นคนเดือนตุลาเข้าไปแสวงหายศถาบรรดาศักดิ์ ที่ทำให้วิญญาณเหล่าวีรชนทั้งหลายเจ็บปวดคงเป็นการเข้าไปรับใช้อำนาจเผด็จการอย่างไม่แยแสว่าใครจะวิจารณ์อย่างไร ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นักการเมืองที่อ้างว่าอยู่กันมาอย่างยาวนาน แต่กว่าสิบปีที่ผ่านมาก็ปล่อยให้ความเคียดแค้น ชิงชังมาบดบังจนละทิ้งหลักการที่เคยยึดมั่นกลายเป็นหลักกู (อิงแอบกับอำนาจซ่อนรูป) ไปเสียฉิบ

สรุปแล้ววันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ด้านประชาธิปไตยของประเทศไทย แทบจะไร้ความหมาย เพราะความเกลียดชังคนแค่บางคนบางกลุ่ม ทำให้ประเทศไทยที่เคยได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยในภูมิภาค วันนี้ไม่แน่ใจว่า ล้าหลังกว่าบางประเทศที่เขาเคยปิดประเทศหรือไม่ สิ่งสำคัญคือถ้าย้อนกลับไปศึกษาพระราชหัตถเลขาบางตอนของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7 ที่ได้พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 เราจะเห็นภาพอะไรได้อย่างชัดเจน

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

พระราชหัตถเลขาที่พระองค์ได้พระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์มีความชัดเจนและไม่ต้องอธิบายความใดๆ มากไปกว่านั้น น่าจะเป็นเครื่องหมายเตือนความจำให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ มีชัย ฤชุพันธุ์ น่าจะนำไปเป็นแนวทางในการยกร่างเผื่อจะมีความเข้าใจในประชาธิปไตยได้อย่างลึกซึ้ง และเกิดสำเหนียกที่ถูกต้องว่า อำนาจอธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรจะมาจากใครและอย่างไร

การติดหล่มอุทยานราชภักดิ์ ดูเหมือนว่าทำให้รัฐบาลคสช.เกิดเครื่องสะดุดไปต่อกันไม่เป็นเลยทีเดียว มิหนำซ้ำ ยังมีปมเรื่องการลดเกรดมาตรฐานการบินจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาหรือ FAA และในวันสองวันนี้น่าจะมีคำตอบสุดท้ายจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรปหรือ EASA ซึ่งน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

หากเป็นเช่นนั้น อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า จะมีผลกระทบรุนแรงกว่า FAA เพราะจะมีมาตรการลงโทษต่อเนื่องหลังถูกลดมาตรฐานการบิน อาจมีผลต่อฐานะทางการเงินของการบินไทยเนื่องจากมีรายได้หนึ่งในสามที่อาศัยจากตลาดยุโรป ผลกระทบจากการปรับลดมาตรฐานการบินจะมีผลโดยตรงต่อธุรกิจการบิน

โดย EASA มักจะมีการดำเนินการบางอย่างหลังการปรับมาตรฐานการบิน อย่างเช่น การขอให้บริษัทเอเย่นต์แจ้งผู้ซื้อตั๋วชาวยุโรปไม่ให้ใช้บริการสายการบินของประเทศนั้น เพิ่มข้อจำกัดสายการบินประเทศนั้นบินเข้าอียูหาก EASA ปรับลดมาตรฐานการบินแบบ FAA ย่อมส่งผลกระทบและความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการบินในไทย และ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในทางอ้อม

นี่ยังไม่นับรวมเอากับข้อกังวลของอาจารย์อนุสรณ์ในประเด็นของการเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด เรียกได้ว่ามองไปทางไหนมีแต่ปัจจัยลบทั้งนั้นสำหรับมิติทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือว่านี่คือสัญญาณที่มีการพูดกันอยู่ในเวลานี้ว่า ปีนี้เผาหลอกปีหน้าเผาจริง แต่สิ่งสำคัญในเวลานี้รัฐนาวาคสช.คงต้องหาทางพาตัวเองให้หลุดพ้นจากปมอุทยานราชภักดิ์อย่างสง่างามให้ได้เสียก่อน

อย่างที่บอกหาก 20 พฤศจิกายนที่ผบ.ทบ.แถลงข่าวผลการตรวจสอบถ้าไม่ใจร้อน นำบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งการใช้เงินหลวงและเงินบริจาคมาแจกแจงอย่างละเอียด ป่านนี้เรื่องเงียบไปแล้ว เมื่อไม่ทำจะด้วยคิดว่าข้าคือผู้ยิ่งใหญ่ใช้ความเด็ดขาดแห่งอำนาจที่มีสั่งให้ทุกคนเชื่อได้ ปัญหาเลยบานปลายมาจนถึงวันนี้ จนเกิดภาพการตามจับคนและกลุ่มคนที่จะเดินทางไปพิสูจน์ความโปร่งใสของอุทยานราชภักดิ์ให้เห็นกับตา

วันนี้กับการแถลงหรือให้สัมภาษณ์ใดๆ ไม่ว่าจะโดยโฆษกรัฐบาล สรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือโฆษกทบ.และโฆษกคสช. วินธัย สุวารี ยิ่งดูเหมือนอาการดิ้นยิ่งรัดตัวเองให้แน่น เพราะถ้อยแถลงต่างๆ นั้นมันเหมือนการแก้ต่างแก้ตัวที่ไม่สมเหตุสมผล คนที่จะเชื่อก็อาจจะมีอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ และแนวร่วมกปปส.ที่มาถึงนาทีนี้ไม่รู้ว่าจะหลงเหลืออยู่เป็นมวลมหาประชาชนเหมือนเดิมหรือไม่

ภาพการควบคุมตัวนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยศึกษาที่นำโดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ปฏิกิริยาแสดงความไม่เห็นด้วยแบบฉบับประสาผู้ดีสะท้อนได้จากข้อความของ มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ที่ตั้งคำถามเชิงประชดประชันว่า “ผมเคยหวังไว้ว่า การที่รัฐบาลอนุญาตให้มีการประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ถึง 200 คนนั้น แสดงให้เห็นถึงการผ่อนคลายมาตรการจำกัดเสรีภาพทางการชุมนุมเสียอีก”

เป็นการแสดงความเห็นที่ไม่ต้องอธิบายใดๆ หากใครที่เกี่ยวข้องไม่อย่างหนาจนเกินไปย่อมเกิดอาการหน้าชา เพราะท่าทีของทูตอังกฤษนั้นสะท้อนและการันตีเรื่อง “สองมาตรฐาน” ได้เป็นอย่างดี และยิ่งเทพเทือกออกมาเสนอหน้าชูแขนหนุนผู้มีอำนาจในทำนองถ้าจะโกงราชภักดิ์ซัก 60-70 ล้านก็ไม่เท่ากับการทำให้จำนำข้าวเจ๊ง ถามว่าเช่นนี้เป็นการปลุกปั่นสร้างความขัดแย้งหรือไม่ แล้วผู้มีอำนาจจะดีใจหรือที่มีคนมาเชียร์ว่าโกงได้ไม่เป็นไร และเป็นการโกงกับโครงการที่สูงส่งอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศเสียด้วย

จะว่าไปสถานการณ์ของท่านผู้นำและชาวคณะเวลานี้ คงเหมือนที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่าไว้วันก่อน ที่ยืดหยุ่นไม่เป็นนั้น จะเป็นเพราะไร้เดียงสาเกินไปหรือจะเป็นเพราะว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ทำใหญ่เกินไปในสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วนี้ จึงทำให้ไม่สามารถขยับตัวเพื่อผ่อนสั้นผ่อนยาวได้ ก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะมองไปทางใด ไม่เฉพาะแต่เรื่องความสัมพันธ์กับมหาอำนาจตะวันตกเท่านั้น ดูจะมีอาการเป็นลิงติดแหไปหมดทุกด้าน จะดิ้นให้หลุดจากการเป็นลิง โดยค่อยๆ แกะแหให้พ้นตัวได้อย่างไร ก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน

Back to top button