ฝากถึง…รัฐบาล (ใหม่)

รัฐบาลใหม่เป็น “ความหวัง” ของทุกภาคส่วน ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่คนไทยต้องการให้รัฐบาลรีบเร่งเข้ามาแก้ไข


เส้นทางนักลงทุน

รัฐบาลใหม่เป็น “ความหวัง” ของทุกภาคส่วนที่ต้องการให้เร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ภายหลังคนไทยออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมากันอย่างท่วมท้น

ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่คนไทยต้องการให้รัฐบาลรีบเร่งเข้ามาแก้ไข เพราะถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ถึงขั้นติดหล่ม เนื่องจากมีภาคท่องเที่ยวเข้ามาช่วยพยุง แต่ตัวเลขการส่งออกซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 โดยเดือนล่าสุด (มีนาคม 2566) ติดลบ 4.2% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในข่ายน่าเป็นห่วง

ขณะที่ ภาคครัวเรือนมีสารพัดปัญหาเข้ามากระทบ ทั้งปัญหาค่าครองชีพ ราคาข้าวของแพง ค่าไฟแพง และหนี้ครัวเรือน ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและปากท้องของชาวบ้าน

เมื่อการเลือกตั้งจบลง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การฟอร์มทีมรัฐบาลใหม่ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า โดยส่วนตัวสิ่งที่อยากเห็นจากรัฐบาลใหม่ในช่วงแรก คือการแก้ไขปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศ นั่นคือความเหลื่อมล้ำ และโครงสร้างทางภาษี

เนื่องจากนโยบายของทุกพรรคการเมืองเป็นนโยบายที่มีต้นทุนทางการคลังสูง ดังนั้นในช่วงที่คะแนนความนิยมกำลังดี จึงควรหาทางสร้างสมดุลการคลังเพื่อให้สามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง

แต่ในทางปฏิบัติ ประเมินว่ารัฐบาลใหม่จะมุ่งเน้นไปที่การตัดงบประมาณและพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้เป็นหลัก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่มาจากโครงสร้างหลักจะไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาล หากทำได้จริงจะทำให้การบริโภคที่ก้าวกระโดดได้ในกรอบ 1-2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) หรืออาจเห็นเศรษฐกิจขยายตัวเหนือ 4% ในช่วงที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) อยากเห็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ซึ่งจะเป็นจุดกำหนดเรื่องความเข้มแข็งของตลาดทุนไทย

ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลใหม่จะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงต้องเลือกว่าจะทำนโยบายอะไร ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ดี เพราะเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เพียงแต่อย่ากระตุ้นจนกระทั่งเป็นนโยบายถาวร และควรมีมาตรการระยะยาวให้มากขึ้นด้วย เพื่อสร้างรายได้ในอนาคตให้ประเทศไทย

มีมาตรการดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางความหลากหลายด้านอุตสาหกรรมให้ได้ ซึ่งจะผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปได้ไกลกว่าเดิมด้วย เพราะจะมี IPO ใหม่ ๆ เข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยเสริมมาตรการระยะสั้นได้

ตลอดจนการฟื้นกองทุน LTF หรือกองทุนรูปแบบใหม่ที่จะสามารถช่วยสร้างเม็ดเงิน มูลค่าการลงทุน และการเก็บออมของประชาชน ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะไม่เป็นภาระรัฐบาลในอนาคต

ด้าน “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” กรรมการ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN หวังว่าไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นการจับมือกันระหว่างพรรคการเมืองใดก็ตาม ขอให้เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่เกิดความขัดแย้ง

โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีความพร้อมในการฟื้นตัว รอเพียงความชัดเจนทางด้านการเมืองเท่านั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติจับตามอง ดังนั้นภายหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีความขัดแย้ง เชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์

ก่อนหน้านี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้หั่นคาดการณ์จีดีพีของไทยทั้งปี 2566 จากเป้าหมายเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3-4% เหลือแค่ขยายตัวได้ 2.7-3.7% มีค่ากลางคือ 3.2% โดยฝากความหวังเรื่องการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวคอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก ควบคู่กับการบริโภคภายในประเทศ

แต่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่าเศรษฐกิจโลกมีโอกาสเกิดภาวะถดถอยลดลงด้วยแรงสนับสนุนจากกิจกรรมเศรษฐกิจภาคบริการที่ขยายตัวได้ แต่กิจกรรมภาคการผลิตยังหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่วนการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีนนั้น คาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2

ขณะที่ การส่งออกของไทยมีแนวโน้มหดตัวต่ออีกระยะหนึ่ง สอดคล้องกับการส่งออกของคู่แข่งของไทยในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่มีทิศทางหดตัวเช่นเดียวกัน โดยได้รับผลกระทบจากกิจกรรมภาคการผลิตของโลกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว

รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลังหลังจากความต้องการสินค้าที่ได้อานิสงส์จากโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับการ work from home ลดลง ซึ่งมีผลให้สินค้าบางประเภทมีแนวโน้มอยู่ในวัฏจักรสินค้าช่วงขาลง เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ราคาสินค้าส่งออกยังมีแนวโน้มลดลงตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้นมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 อาจต่ำกว่าปีที่ผ่านมาได้

มีข้อมูลที่น่าสนใจจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 จะเริ่มเห็นผลกระทบด้านลบจากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก อีกทั้งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2567

โดยประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้อย่างราบรื่น จะส่งผลให้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2567 ได้อย่างเต็มที่

แต่ในทางตรงกันข้าม หากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่น อาจส่งผลให้รัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเต็มต้องปฏิบัติหน้าที่นานเกินสมควร อีกทั้งประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 ได้อย่างล่าช้ามาก ก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจได้

คนไทยทำหน้าที่ใช้สิทธิ ใช้เสียง เลือกตั้งแล้ว จากนี้ไป…รอการฟอร์มทีม…..รัฐบาล (ใหม่)…กัน !!!

Back to top button