‘ขุมทรัพย์ไฟทดแทน’ เวียดนาม.!

“รัฐบาลเวียดนาม” ประกาศใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (ปี 2564-2573) ฉบับใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ net zero carbon ปี 2593


วันที่ 15 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา “รัฐบาลเวียดนาม” ประกาศใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (ปี 2564-2573) ฉบับใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ net zero carbon ปี 2593 ด้วยการเพิ่มกำลังผลิตเป็น 150,489 เมกะวัตต์ ในปี 2573  ประกอบด้วย พลังงานน้ำ 29,346 เมกะวัตต์, ถ่านหิน 30,127 เมกะวัตต์, ก๊าซธรรมชาติในประเทศ 14,930 เมกะวัตต์, LNG-to-Power 22,400 เมกะวัตต์, พลังงานลมชายฝั่ง 21,800 เมกะวัตต์, พลังงานลมนอกชายฝั่ง 6,000 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์ 20,591 เมกะวัตต์, พลังงานขยะ 2,270 เมกะวัตต์, พลังงานไฟฟ้าร่วม 2,700 เมกะวัตต์ และอื่น ๆ 325 เมกะวัตต์

เห็นได้ชัดว่า..พลังงานหมุนเวียน 50% ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมีเพียง 25%

โดยเป้าหมายเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการรับประกันความมั่นคงของพลังงานแห่งชาติ คือจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้วยอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี ช่วงปี 2021-2030 และเติบโตประมาณ 6.5-7.5% ต่อปี ช่วงระหว่างปี 2031-2050

มีการกำหนดเป้าหมายพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนสำหรับผลิตไฟฟ้าเพื่อบรรลุสัดส่วน 30.9-39.2% ภายในปี 2030 ไปจนถึงเป้าหมาย 47% ของอัตราพลังงานทดแทน ส่วนการกำหนดเป้าหมายสัดส่วนพลังงานทดแทนปี 2050 จะอยู่ที่ 67.5-71.5%

โดยภายในปี 2030 จะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนระหว่างภูมิภาคขึ้น 2 แห่ง และศูนย์บริการรวมถึงการผลิตไฟฟ้า, การส่งผ่านไฟฟ้า, การใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์สำหรับพลังงานทดแทน, การก่อสร้าง, การติดตั้งและการบริการที่เกี่ยวข้อง, การสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในพื้นที่ มีศักยภาพสูง เช่น ภาคเหนือ, ภาคกลางตอนใต้และภาคใต้ เมื่อมีเงื่อนไขที่เหมาะสม

การพัฒนาแหล่งพลังงานจากพลังงานทดแทนและผลิตพลังงานใหม่ เพื่อการส่งออก มีขอบเขตกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อการส่งออก (ขายต่างประเทศ) ที่ระดับ 5,000-10,000 เมกะวัตต์

ภายในปี 2030 กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมชายฝั่ง (onshore) จะอยู่ที่ระดับ 21,880 เมกกะวัตต์ (ศักยภาพทางเทคนิคของเวียดนามอยู่ที่ 221,000 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง (offshore) เพื่อป้อนให้กับความต้องการใช้ฟ้าภายในประเทศจะอยู่ที่ระดับ 6,000 เมกะวัตต์ โดยการกำหนดเป้าหมายถึงปี 2050 จะอยู่ที่ระดับ 70,000-91,500 เมกะวัตต์

โดยมีการประมาณการว่า กำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่ง (offshore) สำหรับการผลิตพลังงานใหม่ อยู่ที่ประมาณ 15,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2035 และ 240,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2050

สำหรับไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 963,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นติดตั้งบนพื้นดิน 837,400 เมกะวัตต์ ติดตั้งบนผิวน้ำ 77,400 เมกะวัตต์ และติดตั้งบนหลังคา 48,200 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันจนถึงปี 2030 กำลังผลิตรวมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะเพิ่มขึ้น 4,100 เมกะวัตต์ โดยการกำหนดเป้าหมายจนถึงปี 2050 ด้วยกำลังผลิตรวม 168,594-189,294 เมกะวัตต์

ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวล มีศักยภาพประมาณ 7,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะและของเสีย มีศักยภาพประมาณ 1,800 เมกะวัตต์ โดยปี 2030 กำลังผลิตแหล่งดังกล่าวจะอยู่ที่ะดับ 2,270 เมกะวัตต์และนำไปสู่ระดับ 6,015 เมกะวัตต์ ในปี 2050

ส่วนศักยภาพของไฟฟ้าพลังงานน้ำ เวียดนามมีศักยภาพรวมอยู่ที่ 40,000 เมกะวัตต์ โดยภายในปี 2030 กำลังผลิตรวมของไฟฟ้าพลังงานน้ำ จะอยู่ที่ระดับ 29,346 เมกะวัตต์ โดยกำหนดเป้าหมายปี 2050 กำลังการผลิตรวมจะอยู่ที่ระดับ 36,016 เมกะวัตต์

จากแผนพีดีพีเวียดนาม (ฉบับใหม่) โดยเฉพาะที่ว่าด้วยกำลังผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากกว่า 75,000 เมกะวัตต์ ถือเป็นขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ จะเป็นโอกาสผู้ประกอบการไทย ที่จะเข้าร่วมแบ่งแยกขุมทรัพย์ก้อนใหญ่ดังกล่าว

ส่วนประเทศไทย..ยังคงติดกับดัก “ไฟล้น-ไฟเกิน” กันไปอีกนาน..!!??

Back to top button