“ชัยยศ” แนะเก็บ “แบงก์” รับดอกเบี้ยขาขึ้น ดัน NIM พุ่ง
นายชัยยศ จิวางกูร คาดดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ย่อตัวลง ขณะที่มีหุ้นสามารถเก็งกำไรระยะสั้นชู PTTGC-AMATA ส่วนหุ้นเด่นยกให้กลุ่มแบงก์ KTB, BBL, TTB, KBANK, SCB รับดอกเบี้ยขาขึ้น หนุนส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้น
นายชัยยศ จิวางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผ่านรายการข่าวหุ้นเจาะตลาด วันนี้ 24 พ.ค.66 ว่าแนวโน้มของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยบริเวณระดับ 1,530 จุด นั้นใกล้เกินไป เนื่องจากเมื่อ 22 พ.ค.66 นั้นลงไปที่ระดับ 1,500 จุด แล้วสามารถเด้งกลับขึ้นมาบวกไป 10 กว่าจุด เพราะฉะนั้นมองว่ายังเหลือช่องว่างอยู่
ทั้งนี้ คาดว่าวันนี้น่าจะลงมาที่ระดับต่ำกว่าจุด 1530 จุด โดยสมมติฐานว่าการ Take Profit ในช่วงที่ผ่านมานั้นเด้งขึ้นมาแรง ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศก็ไม่ได้มีภาพรวมที่ดีเท่าไรนัก แต่ในประเทศไทยยังสามารถบวกได้
ด้านเรื่องของเพดานหนี้สหรัฐนั้นได้มีการพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีกทั้งยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ มิหนำซ้ำเวลายังโดนเร่งรัดให้กระชั้นชิดเข้ามา เนื่องจากมีการพูดคุยกัน ณ วันที่ 1 พ.ค. 66 แต่ตอนนี้วันที่ 24 พ.ค. 66 แล้ว ตามกำหนดการณ์นั้นเหลืออีกหนึ่งสัปดาห์ หากยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทางสหรัฐมีเกณฑ์ที่จะถูกมองว่าผิดนัดชำระหนี้ ผลที่ตามมาคือจะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เลยทำให้ภาวะตลาดหุ้นโดยภาพรวม รวมถึงประเทศไทยในวันนี้คาดว่าจะโดนผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกัน
นายชัยยศกล่าวอีกว่า จริง ๆ แล้วมองว่าการย่อของดัชนีเป็นจังหวะของการเข้าซื้อเพราะว่าในเรื่องของประเด็นต่าง ๆ เช่นในเรื่องของความคืบหน้าของการจัดตั้งรัฐบาลในประเทศไทยนั้นดูจะมีความชัดเจนมากขึ้น ต่อไปจะเป็นขั้นตอนของรับรองส.ส. เรื่องของการรับรองผลโหวตในลำดับถัดไป โดยมองว่าเรื่องนี้จะทำให้เซนติเม้นต์นั้นฟื้นตัวขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นถึงแม้ภาพรวมตอนนี้จะลดลง แต่ก็มองว่าเป็นเพียงในระยะสั้น ๆ การปรับขึ้นมาแรง จะมีการปรับ Take Profit ขึ้นมาบ้าง แต่ถ้าหากลงไปถึงระดับ 1,500–1,520 จุด มองว่าเป็นจังหวะในการเข้าซื้อได้ โดยนักลงทุนควรพิจารณาตามวิจารณญาณ
ขณะเดียวกันยังนำหุ้นที่สามารถเก็งกำไรในระยะสั้น ๆ มองว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เพราะว่าได้ในเรื่องของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมา ซึ่งมองแนวรับที่ 147 บาท ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 152-155 บาท
ส่วนอีกตัวหนึ่งมองว่าภาพรวมของธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ที่ดีคือตัวของ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เนื่องจากมีข่าวออกมามากมายว่าค่ายรถยนต์หลายค่ายในฝั่งของประเทศจีนที่เข้ามา ก็ได้เข้ามาทำการผลิตที่ไทย ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมมีโอกาสที่จะสามารถเจริญเติบโตได้ ประกอบกับตัวหุ้น AMATA มีการปรับตัวลดลงมาค่อนข้างลึก หลังจากที่มีความกังวลของการปรับตัวขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาล แต่มองว่าตรงนี้น่าจะสะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่าง ราคาน่าจะมีจังหวะของการซื้อขึ้นมาได้ โดยแนะนำให้ซื้อตามพื้นฐาน 28 บาท
นายชัยยศ กล่าวต่อว่า ภาพรวมของกลุ่มหุ้นธนาคารนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ข้อแรกคือตัวดอกเบี้ยที่ขึ้นมาต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) นั้นเพิ่มมากขึ้น และในส่วนของแบงก์ที่มีสินเชื่อเยอะ ๆ กลับขึ้นได้ดี อย่างเช่น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ตรงนี้จะปรับตัวขึ้นได้มากกว่าตัว ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่มีฐาน SME กับรายย่อยเยอะ
สาเหตุเนื่องจากในเรื่องของตัว NIM เพราะพวก Corporate พวกนี้เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพราะฉะนั้นจะได้ประโยชน์ในจุดนี้ ถ้าหากบอกว่าแนวโน้มของกลุ่มธนาคารทั้งกลุ่มก็ยังสามารถพูดได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีในเรื่องของดอกเบี้ย การจ้างงานที่ดีขึ้น ตัว MPL เริ่มลดลง การตั้งสำรองช่วงโรคระบาด COVID-19 ก็ทำไปเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นปีนี้เป็นปีที่น่าจะทำให้ผลประกอบการนั้นสดใสมากยิ่งขึ้น แต่ว่าให้เน้นไปในส่วนของกลุ่มผู้ที่เป็น Corporate ก็คือหุ้นสามตัวที่ได้กล่าวไปข้างต้น
ส่วนปรากฏการณ์ต่างชาติขายกองทุนซื้ออย่างต่อเนื่องนั้นจะเป็นลักษณะของการสลับรีบาวด์เท่านั้น เพราะโดยสถิติประมาณช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อไรก็ตามที่หุ้นจะสามารถขึ้นได้แรง ๆ อย่างช่วงที่หุ้นขึ้นไปจุด 1,650-1,700 จุด จะเป็นช่วงที่ต่างชาติซื้ออย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นรอบนี้ก็เหมือนกัน ถ้าหุ้นจะเด้งขึ้นไปแรงๆ จะต้องมาจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาช่วย แต่ถ้าบอกว่าต่างชาติยังขายอยู่ แล้วกองทุนซื้อฝั่งเดียว
ดังนั้นอาจจะเด้งเป็นจังหวะแต่คงไม่ได้ไปไหนได้ไกล และคิดว่าตรงนี้น่าจะมีโอกาสสลับตัวลง ถ้าเป็นแรงซื้อจากฝั่งกองทุนฝั่งเดียว อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติยังคงกังวลกับสถานการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทย แม้ว่าคนไทยจะมองว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้ว แต่ในมุมมองของต่างชาตินั้นยังมองว่าไม่มีความแน่นอนในเรื่องนี้ ถ้ามีความชัดเจนในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ต่างชาติจะกลับมาซื้อใหม่ จะเป็นพัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสร้างความกดดันให้กับตลาดหลักทรัพย์อยู่ไม่น้อย