ไทย-ยูเออี เดินหน้าเจรจา “ซีปา” หนุนจีดีพี-ส่งออกโตพุ่ง

ไทย-ยูเออี ประชุมซีปารอบแรก เดินหน้ายกร่างข้อบทความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การค้าบริการและการค้าดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งเป้าสรุปผลภายใน 6 เดือน


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการค้าต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมศุลกากร และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เข้าร่วมประชุมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (ซีปา) ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่นครดูไบ โดยได้แบ่งคณะทำงาน 9 คณะ เพื่อหารือยกร่างความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาทิ การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า การค้าบริการและการค้าดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา จากนั้นได้นัดเจรจารอบสองที่กรุงเทพมหานคร โดยตั้งเป้าหมายเจรจาให้จบภายใน 6 เดือน

ทั้งนี้ จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า การจัดทำซีปา ระหว่างไทย-ยูเออี จะส่งผลให้จีดีพีของไทยเพิ่มขึ้น 318 – 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,867 – 12,201 ล้านบาท และการส่งออกของไทยขยายตัว 190-243 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,494 – 8,305 ล้านบาท โดยสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกได้มากขึ้น อาทิ สินค้าอาหาร สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง พลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เเละยานยนต์และชิ้นส่วน

ทั้งนี้ ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง ในปี 2565 การค้าระหว่างไทย – ยูเออี มีมูลค่า 20,824 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 73.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนช่วงไตรมาสแรก (ม.ค. – มี.ค. 66) การค้าไทย-ยูเออี มีมูลค่า 4,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.6%

ทั้งนี้ เอฟทีเอฉบับนี้มีประโยชน์กับผู้ประกอบการของไทยและชิลีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการขยายมูลค่าการค้าของทั้งสองฝ่าย จากเดิมที่มีมูลค่าการค้า 894.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 58 เป็น 1,289.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 65 หรือขยายตัวเพิ่มมากกว่า 40%

Back to top button