พาราสาวะถีอรชุน

การติดหล่มปมอุทยานราชภักดิ์ หากยังไม่มีการแจกแจงรายรับ-รายจ่าย เคลียร์บัญชีทั้งงบหลวงและเงินบริจาค ก็ยากที่จะทำให้สถานการณ์กดทับรัฐบาลคสช.คลี่คลายลงไปได้ ไม่ว่าจะโชว์กร่าง วางอำนาจยิ่งใหญ่อย่างไร เชื่อได้เลยว่านาทีนี้ไม่มีใครกลัว กลับแปรเปลี่ยนเป็นความสงสัยมากขึ้น สงสัยโครงการที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้เหตุใดหลักฐานเพื่อยืนยันความโปร่งใสจึงไม่ยอมนำมาแสดงเพื่อให้สังคมคลายความกระจ่างเสียที


การติดหล่มปมอุทยานราชภักดิ์ หากยังไม่มีการแจกแจงรายรับ-รายจ่าย เคลียร์บัญชีทั้งงบหลวงและเงินบริจาค ก็ยากที่จะทำให้สถานการณ์กดทับรัฐบาลคสช.คลี่คลายลงไปได้ ไม่ว่าจะโชว์กร่าง วางอำนาจยิ่งใหญ่อย่างไร เชื่อได้เลยว่านาทีนี้ไม่มีใครกลัว กลับแปรเปลี่ยนเป็นความสงสัยมากขึ้น สงสัยโครงการที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้เหตุใดหลักฐานเพื่อยืนยันความโปร่งใสจึงไม่ยอมนำมาแสดงเพื่อให้สังคมคลายความกระจ่างเสียที

แม้กระทั่งการห้ามปรามด้วยการจับกุมบุคคลและกลุ่มคนที่จะเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ ก็นำมาซึ่งความเคลือบแคลงของคนจำนวนไม่น้อย เมื่อบริสุทธิ์และถูกต้อง ทำไมต้องห้ามคนเหล่านั้นโดยยกข้ออ้างเกรงการกระทบกระทั่ง จนเลยเถิดไปถึงขั้นการข่มขู่ที่ว่าถ้าเกิดวุ่นวายกันมากก็อาจจะไม่ได้เลือกตั้ง ยกอีกเรื่องมาขู่หรือพยายามกลบอีกประเด็นไปเสียอย่างนั้น

แต่ไม่ว่าจะมีเสียงสะท้อนอย่างไร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังยืนกรานเรื่องการทำสงครามกับคอร์รัปชั่น มุ่งมั่นตั้งใจปราบปรามการทุจริต ทว่าเสียงจากประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลับน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง กับวาทะที่ว่า ประเทศไทยในปัจจุบันยังมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรง ดังนั้น จึงต้องช่วยกันกำจัดตัวเวรไม่ให้นั่งปล้นชาติได้อีก

สัญญาณที่ส่งมาเช่นนี้ย่อมไม่ธรรมดา ประจวบเหมาะกับถ้อยแถลงของ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หลังการเข้าพบของ จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยิ่งต้องขีดเส้นใต้ “บอกพี่น้องประชาชนได้เลยว่า โครงการนี้มีทุจริต เพราะผู้ที่รับผิดชอบไปชี้แจงเองว่ามีทุจริต แล้วผมไปตรวจแล้วบอกไม่ทุจริต แล้วมันจะอยู่กันอย่างไร มันต้องเจอสิ แต่จะเจอใครที่ไหนอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ก็ต้องคอยดู”

จากป๋ามาถึงบิ๊กต๊อกหากบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ข่าวสารธรรมดาที่บังเอิญว่าท่าทีมาตรงกันในช่วงจังหวะของการเกิดข่าวฉาวกรณีราชภักดิ์ ก็อาจจะมองได้ แต่ในอีกมุมประสาคนคิดลึก คิดกันไปไกลถึงขนาดที่ว่า จะมีอุบัติเหตุใดทางการเมืองเกิดขึ้นอีกหรือไม่ โดยอาจเป็นการรอจังหวะเพื่อให้ผ่านช่วงงานสำคัญๆ หลังกลางเดือนนี้ไปก่อน

เป็นมุมวิเคราะห์ที่คาดเดากันไปได้ ในจังหวะที่ผู้มีอำนาจถูกต้อนจากปมอุทยานราชภักดิ์ อาการเป๋มีมากน้อยขนาดไหน คงวัดได้จากกรณีฝ่ายกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ออกแถลงการณ์เตือนกลุ่มนักศึกษาซึ่งคงหมายถึงกลุ่มที่นำโดย  “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ห้ามไปเคลื่อนไหวในทางการเมืองนอกรั้วมหาวิทยาลัย

แล้วมันไปเชื่อมโยงกับแรงกระเพื่อมของผู้มีอำนาจได้อย่างไร ต้องไม่ลืมว่า อธิการบดีของธรรมศาสตร์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ ก็ไปรับตำแหน่งในสนช. ล่าสุดก็เข้าไปเป็นที่ปรึกษากรธ. ย่อมหนีไม่พ้นว่ามีการรับคำสั่งมาเพื่อกดดันนักศึกษา แม้จะไม่ออกหน้าเองก็หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบ ว่าปล่อยให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นได้อย่างไร

การตอบโต้ของจ่านิวต่อแถลงการณ์ดังกล่าวนั้นน่าสนใจ โดยคำถามของเด็กที่ย้อนกลับไปยังฝ่ายการนักศึกษาก็คือ กรณีที่ในแถลงการณ์กล่าวว่าเป็นการมุ่งทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นไปโดยมั่นคงราบรื่น อยากถามกลับว่าแล้วช่วงที่ธรรมศาสตร์ประกาศหยุดมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2556 เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยไปชัตดาวน์กรุงเทพฯนั้นเรียกว่าอะไร

เรียกได้ว่าเป็นการตอกกลับไปถึงผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยให้หน้าหงายไปเลยทีเดียว พร้อมๆ กับคำถามตามมาว่า ถ้ากรณีตนเพียงกรณีเดียวจะสร้างความไม่ปลอดภัยให้สังคมให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรวมทั้งบุคลากรได้ คิดว่าสังคมนี้อยู่ยากแล้ว ถ้าคนยังไม่รู้จักแยกแยะประเด็นคงอยู่กันยาก คิดว่าการออกแถลงการณ์ที่ค่อนข้างโจมตี เป็นการเอนเอียงไปทางกปปส.และสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลทหารอย่างแท้จริง

ก่อนที่จะชี้ชวนให้สังคมร่วมคิดว่าการออกไปทำกิจกรรมในฐานะนักศึกษากับประชาชน กับที่มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ในลักษณะนี้ ใครทำมหาวิทยาลัยเสียชื่อมากกว่ากัน สอดรับกับความเห็นของ ยุกติ มุกดาวิจิตร ที่เห็นว่า การที่ถ้อยแถลงของมหาวิทยาลัยแสดงท่าทีสนับสนุนคณะรัฐประหาร นอกจากจะไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย การแสดงออกโดยสงบ สันติ และเปิดเผยแล้ว

ยังกลับส่อแสดงว่ามหาวิทยาลัยกำลังส่งเสริมการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญในการรัฐประหาร ส่งเสริมการใช้อำนาจกักขังหน่วงเหนี่ยวประชาชนของคณะรัฐประหาร ซึ่งขัดกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมหลักสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง คงเป็นความจริงที่ชาวธรรมศาสตร์ผู้รักประชาธิปไตยต้องยอมรับอย่างเจ็บปวด

ก่อนที่ยุกติจะสรุปว่า ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์คนหนึ่ง ไม่อาจยอมรับถ้อยแถลงของฝ่ายกิจการนักศึกษาได้ ถือว่าผู้บริหารกำลังนำมหาวิทยาลัยไปสู่ความตกต่ำอีกครั้งหนึ่ง ได้แต่หวังเพียงว่าสาธารณชนจะไม่เข้าใจผิดคิดไปว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังขัดขวางการตรวจสอบการทุจริตอย่างบริสุทธิ์ใจของนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่ง หรือไกลกว่านั้นคือผู้บริหารกำลังปกป้องอำนาจที่ค้ำจุนอำนาจของตนอย่างหน้ามืดตามัว

ไม่ใช่ก็ต้องเชื่อว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำแห่งการเรียกร้องปกป้องประชาธิปไตย ในวันนี้จะกลายเป็นบริวารของอำนาจเผด็จการไปเสียฉิบ นี่แหละที่ว่ากันว่า ยศถาบรรดาศักดิ์ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ สิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณหรือหลักการนั้นหาได้ฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนเหล่านั้นไม่ เป็นเพียงแค่หน้าฉากที่ใช้สร้างภาพให้ตัวเองดูมีราคาเท่านั้นเอง

แฉกันแหลกสำหรับองค์กรอิสระอย่างกกต. หลังการเลิกจ้างฟ้าผ่า ภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการด้วยเหตุผลไม่ผ่านการประเมิน โดยคนถูกปลดซัดยับตลอด 2 ปีของกกต.ชุดนี้ถูกล้วงลูกอย่างหนัก ขณะที่ฝ่ายกกต.ตั้งแต่ประธานยันคนที่เป็นเจ้าของวลีทำงานใหญ่ให้ต้องเอียงก็โต้กลับทันควันพร้อมขู่ฟ่อดๆจะฟ้องถ้าเข้าข่ายหมิ่นประมาท เละเป็นโจ๊ก ไม่ต้องพูดถึงภาพลักษณ์หรือความเชื่อมั่นขององค์กร เพราะมันหมดไปตั้งแต่ทำตัวเป็นคณะกรรมการไม่อยากเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมาแล้ว

Back to top button