สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 25 พ.ค. 2566
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 25 พ.ค. 2566
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) โดยนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้นกว่า 200 จุด หลังจากหุ้นอินวิเดีย (Nvidia) พุ่งขึ้นขานรับผลประกอบการที่ดีเกินคาด และเป็นปัจจัยหนุนหุ้นบริษัทเทคโนโลยีรายอื่น ๆ ที่เป็นผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์ และอัลฟาเบท
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,764.65 จุด ลดลง 35.27 จุด หรือ -0.11%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,151.28 จุด เพิ่มขึ้น 36.04 จุด หรือ +0.88% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,698.09 จุด พุ่งขึ้น 213.93 จุด หรือ +1.71%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 456.18 จุด ลดลง 1.47 จุด หรือ -0.32%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,229.27 จุด ลดลง 24.19 จุด หรือ -0.33%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,793.80 จุด ลดลง 48.33 จุด หรือ -0.31% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,570.87 จุด ลดลง 56.23 จุด หรือ -0.74%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และตลาดยังถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ร่วงลงตามราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,570.87 จุด ลดลง 56.23 จุด หรือ -0.74% หลังร่วงแตะระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 8 สัปดาห์ในระหว่างวัน
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% ในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) หลังจากรัสเซียประกาศขวางการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมในการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 4 มิ.ย.
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 2.51 ดอลลาร์ หรือ 3.38% ปิดที่ 71.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 2.10 ดอลลาร์ หรือ 2.68% ปิดที่ 76.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 สัปดาห์ในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) และเป็นการปิดในแดนลบติดต่อกัน 4 วันทำการ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยฉุดตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 20.90 ดอลลาร์ หรือ 1.06% ปิดที่ 1,943.70 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 33 เซนต์ หรือ 1.42% ปิดที่ 22.91 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 3.20 ดอลลาร์ หรือ 0.31% ปิดที่ 1,026.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 14.50 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 1,415.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ และล่าสุดฟิทช์ เรทติ้งส์ เตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ เนื่องจากการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ยังคงยืดเยื้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.34% แตะที่ระดับ 104.2424
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 139.9710 เยน จากระดับ 139.1400 เยนในวันพุธ (24 พ.ค.) ,แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9063 ฟรังก์ จากระดับ 0.9051 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3638 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3598 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.8328 โครนา จากระดับ 10.7255 โครนา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0722 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0750 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2318 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2361 ดอลลาร์