“ส.ร้านอาหารไทยฯ” ชี้แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยกู้-ฝาก หวั่น SME ต้นทุนพุ่ง เสี่ยงเจ๊งระนาว

“สมาคมร้านอาหารไทยสตรีทฟู้ด” ชี้แบงก์ปรับอัตราดอกเบี้ยกู้-ฝาก หวั่นกระทบผู้ประกอบการ“เอสเอ็มอี” ทำต้นทุนพุ่ง เสี่ยงเจ๊งระนาว


นางสาวประภัสสร รังสิโรจน์ นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด กล่าวว่า การที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2% ทำให้ธนาคารต่างๆ ทยอยปรับดอกเบี้ยตาม เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) จะได้รับผลกระทบสูงมากเพราะเป็นเรื่องต้นทุนของธุรกิจที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กยังฟื้นตัวกลับมาจากการเผชิญวิกฤตโควิดได้ยาก รวมถึงบางธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ก็มีแม้ขณะนี้เศรษฐกิจจะเข้าสู่ปกติมากขึ้นแต่การฟื้นตัวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทั่วพื้นที่ประเทศไทย ดังนั้น เรื่องของผลกระทบยังคงมีอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. เปิดเผยกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน กนง.มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ต่อปี สู่ระดับ 2.00% ต่อปี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 และให้มีผลทันทีว่า ธ.ก.ส.ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.50% ต่อปี พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.10-0.25% ต่อปี ประกอบด้วยอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายคนชั้นดี (MRR) จาก 6.875% ปรับขึ้น 0.10% เป็น 6.975% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) จาก 5.375% ปรับขึ้น 0.250% เป็น 5.625% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 6.750% ปรับขึ้น 0.125% เป็น 6.875% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 พร้อมกันนี้

สำหรับ ธ.ก.ส.เตรียมมาตรการดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผล กระทบจากโควิด และสนับสนุนการฟื้นตัวในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาตรการฟื้นฟูอาชีพ มาตรการจ่ายดอกตัดต้น และมาตรการจ่ายต้นปรับงวด การให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ทั้งในและนอกระบบ การสนับสนุนให้ลูกค้าบริหารจัดการหนี้ผ่านแนวทางมีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก พร้อมสร้างแรงจูงใจโดยคืนหรือลดอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้ที่ชำระหนี้ ควบคู่กับการเติมทุนผ่านสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 0.01% สินเชื่อ เอสเอ็มอี เสริมแกร่ง และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 และสินเชื่อ Green Credit อัตราดอกเบี้ย MLR/MRR เป็นต้น

“แต่เดิมสัดส่วนการทำธุรกิจแบ่งเป็นกำไร 60% และต้นทุน 40% เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานต่อเนื่องได้ แต่เมื่อต้นทุนธุรกิจต่างๆ ทยอยเพิ่มขึ้นเกือบทุกด้านจากสัดส่วนการดำเนินธุรกิจเดิมก็เปลี่ยนเป็นต้นทุน 50% และกำไร 50% จนขณะนี้เมื่อต้นทุนไม่ลดลงเลยและเศรษฐกิจไม่ได้โตขึ้นชัดเจน ทำให้กำไรธุรกิจตอนนี้แค่ถึง 20-30% ยังเป็นไปได้ยากมากท่ามกลางต้นทุนที่สูงขึ้น จึงทำให้ธุรกิจล้มหายไปก็สูง” นางสาวประภัสสร กล่าว

Back to top button