UN เสนอนโยบาย “โกลบอลดิจิทัลคอมแพ็ก” ห่วง “เทคโนโลยีดิจิทัล” เป็นภัยคุกคาม
เลขาธิการสหประชาชาติ ห่วง“เทคโนโลยีดิจิทัล” เป็นภัยคุกคามในอนาคต จึงนำเสนอ “โกลบอลดิจิทัลคอมแพ็ก” ให้ชาติสมาชิกร่วมกันดำเนินการ
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้เสนอนโยบายโกลบอลดิจิทัลคอมแพ็ก (Global Digital Compact) เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ต่อประเทศสมาชิก UN ในระหว่างการนำเสนอบทสรุปนโยบาย ว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องร่วมมือกันในโครงการโกลบอลดิจิทัลคอมแพ็ก เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล และระบุวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
นายกูเตอร์เรส ระบุว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ดีปเฟก (Deepfake) และวิศวกรรมชีวภาพเป็นเพียง 3 สาขาของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุดที่กำลังทดสอบความสามารถในการกำกับดูแลที่เกินขีดจำกัด ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนี้ จึงทำให้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีมีความสำคัญยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยี AI เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการศึกษา การสื่อสาร โลกแห่งการทำงาน และอีกมากมาย แต่อนาคตของผลกระทบนั้นไม่ชัดเจนสำหรับทุกคน โดยเฉพาะโลกของการทำงานทั้งจากที่ถูกสร้างขึ้นใหม่และสูญหายไป
นายกูเตอร์เรส ยังระบุว่า AI มีศักยภาพในการเร่งการพัฒนาและผลิตผล เร่งความคืบหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่งถือว่า สร้างความท้าทายทางจริยธรรมที่ร้ายแรง และมีโอกาสที่จะนำ AI เป็นอาวุธเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก
ทั้งนี้ แนวโน้มของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นสร้างความกลัวมากกว่าความหวัง แม้แต่ผู้ที่พัฒนา AI และผู้ที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีก็ยังแสดงความกังวลอย่างมาก และเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อกำกับดูแล