ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง TPL ขายไอพีโอ 120 ล้านหุ้น ระดมทุนเทรด mai ไตรมาส 3
ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง “ไทยพาร์เซิล” หรือ TPL ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทย จ่อขายหุ้นไอพีโอ 120 ล้านหุ้น เข้าจดทะเบียนในตลาด mai ไตรมาส 3 ระดมทุนรองรับการขยายธุรกิจ
นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ TPL เป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ในช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้
โดย TPL ได้ยื่นเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering หรือ IPO) จำนวน120 ล้านหุ้นมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็น 22.90%ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท โดยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจบริการ
นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPL เปิดเผยว่า แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการรุกขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตในอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงการในอนาคต อีกทั้งการระดมทุนในครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดความสำเร็จของบริษัทอีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างสูงสุด ทำให้บริษัทสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิม และสามารถเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาใช้บริการขนส่งสินค้าได้มากขึ้น ดังนั้นจึงมองหาโอกาสที่จะขยายขีดความสามารถในส่วนของศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้า รถขนส่ง และระบบการจัดการงานขนส่ง เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนลูกค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างครบวงจรมากขึ้น
“สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้ในการจัดหาที่ดินและก่อสร้างศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้าประจำภูมิภาค รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าในเขต กทม. การซื้อยานพาหนะที่เป็นรถขนส่งแบบ EV การสร้างสถานีชาร์จไฟและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพสนับสนุนการเติบโตในอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายภัทรลาภ กล่าว
อนึ่ง TPL ประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทยทั้งสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ให้สามารถประกอบธุรกิจขนส่งได้ โดยลักษณะการให้บริการหลักของบริษัท
ได้แก่ การรับสินค้าหรือสิ่งของจากจุดบริการทั่วประเทศหรือรับจากลูกค้าโดยตรง แล้วรวบรวมมาคัดแยกที่จุดคัดแยกเพื่อนำไปส่งที่จุดหมายปลายทาง ซึ่งมีทั้งคลังสินค้า โรงงาน ร้านค้า หรือบ้านของลูกค้า รวมถึงสาขาของบริษัท และมีการให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง (Cash on Delivery: COD) โดยลูกค้าที่ใช้บริการกับบริษัทสามารถติดตามสินค้าที่จัดส่งได้จากระบบของบริษัท (Parcel Tracking) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการการขนส่งที่บริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยบริหารจัดการการจัดส่งสินค้า โดยครอบคลุมตั้งแต่การรับสินค้า การออกบาร์โคด (Barcode) สำหรับตรวจสอบสถานะการจัดส่ง การบันทึกการจัดรถเพื่อรับและส่งสินค้า การบันทึกข้อมูลลูกค้าปลายทางและข้อมูลการเก็บเงินปลายทาง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการให้บริการเสริม (Fulfillment) เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า ได้แก่ บริการจัดส่งคืนเอกสารการจัดส่งสินค้าสู่ลูกค้าต้นทาง (Proof of Delivery: POD) บริการห่อหุ้มสินค้าและจัดชุดสินค้าเพื่อเตรียมกระจาย (Packing) ซึ่งเป็นการให้บริการเสริมให้แก่กลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจในปัจจุบัน
สำหรับโครงสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัทสามารถแบ่งได้ตามประเภทของการจัดส่ง ได้แก่ 1) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (Business to Business: B2B) 2) การจัดส่งแบบบุคคลถึงบุคคล (Customer to Customer: C2C) และ 3) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงบุคคล (Business to Customer: B2C)
ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 21.11 ล้านบาท ขณะที่ในงวดไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2.41 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 18.90%จากงวดเดียวกันปีก่อนเท่ากับ 18.04% และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 0.53 เท่า
โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้งวดไตรมาส 1/2566 มีกำไรสูงขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการที่บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น ทั้งด้านการเติบโตของรายได้ในทุกกลุ่มลูกค้าและการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้นโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายยานพาหนะเก่าที่ปลดระวาง ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน