‘จีน’ กับนโยบาย (ลด) ดอกเบี้ย.!?

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อันเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา


สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อันเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาถือว่าต่ำกว่าที่มีการประเมินกันว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.3% และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) อันเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงานลดลง 4.6% จากที่ประเมินกันว่าอาจลดลง 4.3% เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลง รวมทั้งอุปสงค์ (ดีมานด์) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอ่อนแอลง

จากข้อมูลเงินเฟ้อดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนมีการชะลอตัวลงต่อเนื่องช่วงเดือน พ.ค. หลังจากข้อมูลก่อนหน้านี้เปิดเผยให้เห็นว่ากิจกรรมภาคการผลิตหดตัวลงยอดส่งออกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนและการฟื้นตัวในตลาดที่อยู่อาศัยเริ่มชะลอตัว

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำและที่ปรึกษารัฐบาลจีนออกมาเรียกร้องให้ธนาคารกลางจีนเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดย “หลิว หยวนชุน” ประธานภาควิชาการเงินและเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ (อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและนายหลี่ เค่อเฉียงอดีตนายกรัฐมนตรีจีน) ให้ความเห็นว่า จีนควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดภาระต้นทุนด้านการเงินให้ธุรกิจภาคเอกชนและกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่ “เรย์มอนด์เหยิง” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายกิจการจีนแผ่นดินใหญ่และจีนโพ้นทะเล (Greater China) ของบริษัทออสเตรเลียแอนด์นิวซีแลนด์แบงกิง กรุ๊ป ระบุว่ารัฐบาลจีนจำเป็นต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศและคาดหวังว่าธนาคารกลางจีนอาจปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ภายในไตรมาส 2/66

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารอินดัสเตรียลแอนด์คอมเมอร์เชียล แบงก์ออฟไชนา ลิมิเต็ด (ICBC), ธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน, แบงก์ออฟไชน่า และธนาคารการก่อสร้างจีนได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง  เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. 66  เป็นต้นไปโดยธนาคารของรัฐดังกล่าวปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกระแสรายวันลง 0.05% และดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 ปี และ 5 ปี ลง 0.15% ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 ปี (การปรับลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นช่วงเดือน ก.ย. 65)

ขณะที่ Gary Ng นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสเอเชียแปซิฟิกบริษัท Natixis ระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะผลักดันการออมไปสู่การบริโภคและการลงทุนและผ่อนคลายแรงกดดันต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคาร ถือเป็นการเปิดประตูสำหรับมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่เพิ่มเติมมากขึ้น

โดยเชื่อว่าจะมีการปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองที่กำหนดโดยธนาคารกลาง (RRR) ลง 0.5% เพื่อสนับสนุนการออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) เพิ่มเติมจะเกิดขึ้นเพียงกรณีที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจหรือความเสี่ยงทางการเงินทรุดตัวลงจนถึงระดับที่ทำให้เศรษฐกิจจีนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ระดับ 5%

จีนได้ปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองที่กำหนดโดยธนาคารกลาง (RRR) ในเดือน มี.ค.ปีนี้ แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐาน (MLF) ไม่เปลี่ยนแปลงในปีนี้ขณะที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบสหรัฐฯ กว้างมากขึ้น ทำให้จำกัดขอบเขตในการผ่อนคลายนโยบายการเงินขนาดใหญ่

โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะกลาง (MLF) ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการสภาพคล่องจะถึงกำหนดประกาศวันที่ 15 มิ.ย. 66 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) จะถึงกำหนดประกาศวันที่ 20 มิ.ย. 66 หลังจากธนาคารกลางจีน (PBOC) ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยทั้ง MLF และ LPR มานานกว่า 9 เดือนแล้ว อัตราดอกเบี้ย MLF 1 ปีอยู่ที่ 2.75% ช่วงเดือน พ.ค. 66 ขณะที่อัตราดอกเบี้ย LPR 1 ปีอยู่ที่ 3.65% และอัตราดอกเบี้ย LPR 5 ปีอยู่ที่ 4.3%

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของจีนครั้งนี้ เบื้องต้นช่วยทำให้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารดีขึ้นและเป็นการเตรียมการสำหรับธนาคารกลางจีนเพื่อที่จะลดอัตราดอกเบี้ยประเภทอื่น ๆ ลงอีกอย่างแน่นอน..!!

Back to top button