พาราสาวะถี

จากตั้งต้นของนักร้องสู่การตีความของ กกต. คนทั่วไปมองดูเป็นเรื่องของกระบวนการตรวจสอบ เพื่อที่จะนำไปสู่การสกัด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก้าวไปสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30


จากตั้งต้นของนักร้องสู่การตีความของ กกต. คนทั่วไปมองดูเป็นเรื่องของกระบวนการตรวจสอบ เพื่อที่จะนำไปสู่การสกัด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก้าวไปสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แต่ทำไปทำมาปมถูกร้องถือหุ้นไอทีวีทำท่าว่าจะเป็น “ขบวนการ” ที่มีการสุมหัววางแผน และนำไปสู่สิ่งที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลบอกไว้ในวันประกาศเรื่องโอนหุ้นให้คนในครอบครัว เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตว่าด้วยการฟื้นคืนชีพของไอทีวี สื่อที่ไม่ได้ดำเนินกิจการด้านนี้มานานกว่า 16 ปีแล้ว

ตามความเข้าใจของปุถุชนคนธรรมดา เมื่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน.ในยุครัฐบาลขิงแก่ได้บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยู เอช เอฟ ระหว่าง สปน.กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2560 แล้ว บริษัทก็ไม่ได้ประกอบกิจการธุรกิจสถานีโทรทัศน์นับตั้งแต่นั้นมา มากไปกว่านั้น หากมองไปยังวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อก็เพื่อป้องกันการมีส่วนได้ส่วนเสียและชี้นำมีผลต่อการเลือกตั้ง หรือการดำเนินกิจกรรมการเมืองต่าง ๆ

หากไอทีวีมีฐานะเป็นสื่อจริง ถามว่าใช้ช่องทางในการดำเนินการตรงไหนที่จะไปเอื้อประโยชน์ทางการเมืองกับผู้ถือหุ้นดังกล่าว แต่ก็นั่นแหละทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับการตีความของผู้มีอำนาจวินิจฉัย เบื้องต้นก็ กกต. ที่จะเดินหน้าดำเนินคดีอาญากับพิธาตามมาตรา 151 ต้องพิสูจน์ให้ได้และชี้ให้เห็นว่า ไอทีวียังคงทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ และมีผลต่อการชี้นำทางสังคมอย่างไร ที่กลายเป็นประเด็นเวลานี้ก็คือ บันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา

เนื่องจากมีผู้ร่วมประชุมที่ภายหลังก็เปิดเผยตัวตนมาแล้วว่าเป็นผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรคภูมิใจไทยที่ชื่อว่า นิกม์ แสงศิรินาวิน ใช้ให้ลูกน้องตั้งคำถามผ่านระบบออนไลน์ว่า  บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ คำตอบที่ได้จากเสียงซึ่งมีการเปิดคลิปจากในที่ประชุมคือ “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ” แต่ในรายงานการประชุมที่บันทึกและมีการลงนามรับรองกลับระบุว่า “ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงิน และยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์โดย คิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTOUCH ซึ่งเป็นผู้ที่ตอบคำถามตามที่ปรากฏเป็นข่าวและผู้ลงนามในรายงานการประชุม ได้ออกเอกสารแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วว่า บริษัทได้รับทราบข้อมูล และได้ให้คณะกรรมการและฝ่ายจัดการของไอทีวีดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้น และหากมีประเด็นใด ๆ ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทางไอทีวีจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ต้องรอบทสรุปจากการตรวจสอบในส่วนของบริษัท ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปมากขนาดนี้คงปล่อยผ่านกันไม่ได้ ที่สำคัญบริษัทก็ต้องอธิบายให้ชัดแจ้ง มิเช่นนั้น จะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ประโยคคำตอบที่ปรากฏในคลิปเสียงกับรายงานการประชุมต้องบอกให้ได้ว่า ข้อความไหนเป็นเท็จหรือว่าข้อความทั้งสองส่วนได้มีการชี้แจงกับผู้ถือหุ้นไว้จริง แล้วทำไมรายงานการประชุมจึงเลือกที่จะบันทึกเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดเท่านั้น ทั้งที่เป็นสาระสำคัญ

เพราะในทางการเมืองเวลานี้มองไปถึงขบวนการที่สอดประสานกัน ทำกันอย่างเป็นระบบ ไม่เฉพาะนักการเมืองที่สั่งให้ลูกน้องถาม อาจจะเชื่อมโยงไปถึงผู้ไปยื่นร้อง จนกระทั่งสืบสาวไปถึงตัวผู้อยู่เบื้องหลังสั่งการ เมื่อมองมุมนี้ก็ชวนให้คิดย้อนไปถึงคำเตือนของ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ที่บอกไว้หลัง กกต.ยก3 คำร้องเอาผิดพิธา แต่เดินหน้าเองในความผิดคดีอาญา เกมเตะตัดขาพิธา แพ้ชนะอยู่ที่ฝ่ายเสนาธิการผู้วางแผน

ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใดสำหรับขบวนการสืบทอดอำนาจที่วางแผน สร้างกลไกเพื่อการอยู่ยาว นักวิชาการที่เป็นกลางทั้งหลายต่างมองว่าเครื่องมือที่นำมาใช้นั้นเป็นเรื่องของอภินิหารทางกฎหมาย หรือบางรายอาจจะเรียกไสยศาสตร์ทางกฎหมาย แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันเป็นตัวบ่งชี้ว่า ฝ่ายกุมอำนาจพยายามที่จะใช่เล่ห์กลเพื่อพลิกเกมจากผู้แพ้ให้มาเป็นผู้ชนะ เหมือนครั้งที่เคยปล้นสำเร็จมาแล้วหลังเลือกตั้งปี 2562

แต่ครั้งนั้นแรงกระเพื่อมไม่เกิด เพราะคะแนนแพ้ชนะของฝ่ายหนุนและต้านเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่ได้ทิ้งกันขาด แต่หนนี้แค่สองพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่มีผู้เลือกหรือสนับสนุนกว่า 25 ล้านเสียง ก็เป็นเครื่องหมายชี้ชัดถึงความต้องการของประชาชนแล้วว่า ต้องการเห็นทิศทางการเมืองและก้าวย่างของบ้านเมืองเป็นไปแบบไหน ประกอบกับแนวร่วมที่เป็นชนชั้นกลางและกลุ่มอีลิทที่เคยหนุนเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ไม่ยอมจะเป็นกองหนุนให้มีการใช้อภินิหารใด ๆ อีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะรอดพ้นจากบ่วงกรรมของการถือหุ้นไอทีวี แต่เส้นทางการขึ้นเป็นนายกฯ ของพิธาก็ใช่ว่าจะสะดวก เมื่อต้องไปสู้กับด่าน 250 เสียง ส.ว.ลากตั้ง ที่จนถึงขณะนี้บรรดาพวกที่ไปทำหน้าที่ล็อบบี้ ประสานขอเสียงสนับสนุน มีสัญญาณตอบรับกลับมาในจำนวนที่ไม่สามารถดันร่วมกับ 312 เสียงให้ถึง 376 เสียงได้ ยิ่งมีกรณีเจ้าตัวถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 151 ยิ่งทำให้การเจรจายากขึ้นไปอีก โอกาสเกมพลิกแต่อยู่ในแนวทาง 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลเดิมยังมีความเป็นไปได้

เรื่องการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นเลิกพูดกันไปแล้ว มีแต่ว่าจะเพิ่มพรรคการเมืองเข้ามาร่วมกับ 8 พรรคเดิมเพื่อให้เสียงใกล้เคียงกับเป้าหมาย แล้วใช้สายสัมพันธ์ของพรรคและหัวหน้าพรรคที่ดึงมาร่วมขอแรงหนุนจาก ส.ว.ตรงนี้น่าจะง่ายขึ้น ซึ่งทางเลือกนี้ก็มีแค่พรรคสืบทอดอำนาจเท่านั้นที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ยังมีบารมีสั่ง ส.ว.สายตรงได้อยู่ สุดท้ายถ้าจำเป็นเพื่อการปิดสวิตช์ ส.ว.ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องใช้บริการภูมิใจไทย แต่กรณีนี้จะจบแบบสองทางคือ ก้าวไกลทำใจได้ร่วมงานกัน หรือช่วยโหวตเลือกนายกฯ ตั้งรัฐบาลสำเร็จ แล้วพาตัวเองไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ไม่ว่าจะทางไหนก็ส่อเค้าว่ามวลชนที่สนับสนุนจะไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง

Back to top button