“พาณิชย์” จัดโครงการ “Local BCG Plus” เพิ่มมูลค่า “โอท็อป” ยกระดับรายได้ชุมชน
กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าโครงการ Local BCG Plus เพิ่มมูลค่าสินค้า OTOP ยกระดับรายได้ให้กับชุมชน หวั่นเอลนีโญกระทบผลผลิตทางเกษตร
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (14 มิ.ย. 66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ จัดทำโครงการ Local BCG Plus โดยช่วยผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ผลิตสินค้า BCG ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, สินค้าอัตลักษณ์ และสินค้านวัตกรรม ทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิต และผลักดันให้เข้าร่วมโครงการ Local BCG Plus เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น ยกระดับรายได้ให้ชุมชน และผู้ประกอบการท้องถิ่น
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เยี่ยมชมบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท จำกัด จังหวัดชลบุรี ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์มะพร้าวภายใต้แบรนด์ “เมอริโต้” ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการนี้ และบริษัทมั่นใจว่าช่องทางการตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ช่วยดำเนินการนั้น จะทำให้มีโอกาสขยายตลาดใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น
ภายในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงานแสดงสินค้า Local BCG Plus Fair 2023 ในภูมิภาคต่างๆ รวม 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 1-3 จัดแล้วที่เชียงใหม่ สงขลา และขอนแก่น ตั้งแต่เดือนเม.ย.-พ.ค.66 ส่วนครั้งที่ 4 จัดวันที่ 14-18 มิ.ย.66 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลบางนา กรุงเทพฯ และปิดท้ายที่กรุงเทพฯ งาน Thailand Local BCG Plus Expo 2023 วันที่ 7-9 ก.ค.66 บริเวณ Hall 7 ชั้น LG ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งเป้าหมายสร้างมูลค่าการค้าภายในงานทั้ง 5 ครั้ง ไม่ต่ำกว่า 650 ล้านบาท
นายพีรโชติ จรัญวงศ์ นายกสมาคมการค้าอินทรีย์ไทย และกรรมการผู้จัดการบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท จำกัด กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการ Local BCG Plus จะช่วยขยายตลาดของบริษัทได้มากขึ้นแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กำลังกังวลว่าปัญหาภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยลดลง ซึ่งตามสถิติที่ผ่านมา หากเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ก็จะเกิดขึ้นไปต่อเนื่อง 2-3 ปี จึงคาดว่าไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเผชิญกับเอลนีโญราว 3 ปีเช่นกัน
ดังนั้น เกษตรกร โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน ควรเตรียมตัวรับมือกับภัยแล้งที่อาจรุนแรงและยาวนาน โดยหาแหล่งกักเก็บน้ำ และปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแปลงเกษตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ทนแล้ง และใช้น้ำน้อย ขณะที่ภาครัฐต้องเตรียมหามาตรการรับมือเช่นกัน
“ภาพรวมผลผลิตทางการเกษตรของไทยน่าจะลดลง โดยเฉพาะข้าวนาปี ที่ต้องอาศัยน้ำฝน ซึ่งจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าหายไปจากตลาด ส่วนราคามะพร้าว ก็น่าจะเพิ่มขึ้น อย่างช่วงเอลนีโญครั้งก่อน ราคามะพร้าว เคยขายได้กิโลกรัม (กก.) ละ 10 บาท ก็เพิ่มเป็น 50 บาท แต่ของไม่มีจะขาย ภาครัฐจึงต้องเร่งหามาตรการรองรับ เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตขายในช่วงราคาดี ท่ามกลางปรากฎการณ์เอลนีโญ” นายพีรโชติ ระบุ