AOT ลุ้นกำไรปีนี้ 1.4 หมื่นล้าน “เคจีไอ” เคาะเป้าสูง 86 บาท
AOT ลุ้นปีนี้กำไร 1.4 หมื่นล้านบาท หลัง “สุวรรณภูมิ” ฟื้น ดีเดย์ ก.ค.นี้ เปิดประกวดราคาโครงการให้บริการภาคพื้นรายที่ 3 สุวรรณภูมิ AOTGA มาเต็งหนึ่ง ส่วน AOTTO เริ่มเปิดบริการตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออกเดือนหน้า ดันกำไรบริษัทแม่กระฉูด บล.เคจีไอ ให้เป้า 86 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากตัวเลขผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิฟื้นตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยในครึ่งปีหลังจะกลับมาสู่ระดับ 80-90% ของระดับก่อน COVID ระบาดในปี 2562 ทำให้รายได้จากการบริการของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เป็นที่น่าสนใจ สอดคล้องกับ นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT ที่กล่าวว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลัก ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ย 150,000 คนต่อวัน และประเมินว่าทั้งปี 2566 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีผู้โดยสารกว่า 50 ล้านคน รวม 6 ท่าอากาศยานในความดูแลของ AOT จะมีผู้โดยสาร 96 ล้านคน ตามที่ได้ประมาณการไว้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ AOT มีผู้โดยสารรวม 46.69 ล้านคน
สำหรับเดือนกรกฎาคมนี้ AOT จะเปิดประกวดราคาแบบรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 3 วงเงิน 29,390.76 ล้านบาท ซึ่งเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี
โดยบริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA (AOT ถือหุ้น 49% และบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ถือหุ้นใน AOTGA ผ่านบริษัท เอสเอแอล กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ SAL อีก 51%) จะเข้าร่วมประกวดราคาด้วย และคาดว่าจะได้ตัวผู้รับงานในเดือนกรกฎาคม 2566 เช่นกัน เนื่องจากเป็นความจำเป็นเร่งด่วน
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเป็นบวกกับแนวโน้มธุรกิจของ AOT หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง และนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเที่ยวประเทศไทยในปี 2566
โดยล่าสุดประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ไว้ที่ 1.39 หมื่นล้านบาท และปี 2567 อยู่ที่ 2.70 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นในครึ่งปีหลัง และยังกลับมาเก็บค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอัตราปกติ จากเดิมที่ลด 50% จึงคาดผลประกอบการน่าจะเป็นไปตามที่คาดไว้ แนะนำ “ซื้อ” โดยประเมินราคาเป้าหมาย 86 บาท
ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขผู้โดยสารจะดีขึ้นต่อเนื่องในส่วนที่เหลือของปี 2566 แม้จะอยู่ในช่วงต้นของการกลับมาเปิดประเทศ แต่จำนวนผู้โดยสารที่อยู่ภายใต้การจัดการของ AOT รวม 6 ท่าอากาศยาน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต สนามบินหาดใหญ่ สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ก็ขยับขึ้นมาเป็น 263,000 คนต่อวัน ในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเท่ากับ 67% ของระดับก่อน COVID ระบาดในปี 2562
ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารของสนามบินหาดใหญ่และสุวรรณภูมิฟื้นตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งมากที่สุด ในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 90% จากช่วงก่อนเกิดโควิดระบาดในปี 2562 นอกจากนี้ AOT จะเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 200 ล้านคน ในปี 2574 จากปัจจุบันที่ 183 ล้านคน จากการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 28 หลุมจอด ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีก 15 ล้านคนต่อปี และช่วงต้นปี 2567 จะเปิดใช้งานทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3
โดยทั้ง 3 รันเวย์ จะสามารถรองรับเที่ยวบินเพิ่มเป็น 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ชม.) หรือเท่ากับจำนวนผู้โดยสาร 90 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 2 รันเวย์ รองรับได้ที่ 64 เที่ยวบินต่อชม. และส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) โดยปรับเพิ่มวงเงินขึ้นจาก 7,830 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าปลายปี 2566 จะเสนอคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้ คาดว่าธุรกิจคลังสินค้า หรือ Cargo จะโตถึง 150% โดยบริษัทมองว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในระยะยาว เพราะมีเขตปลอดอากร (freezone terminal) ที่สามารถให้การรับรองสินค้าเน่าเสียง่าย (perishable products) ผ่านช่องทาง perishable premium ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด หรือ AOTTO (AOT ถือหุ้น 49%) ซึ่งให้บริการตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออก สินค้าประเภทสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ อาหาร และยา สินค้าทั้งหมดที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ จะช่วยสนับสนุนอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากลูกค้าทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มเปิดดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2566 คาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้นในครึ่งปีหลังปี 2566
โดยยังคงมองบวกกับแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อ AOT ก่อนในฐานะที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัท โดยสรุปคาดว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกำไรของบริษัทในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ไม่ได้มีการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือบริษัทผู้เช่าพื้นที่ของ AOT ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการบินและไม่เกี่ยวกับการบินออกไปอีก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นมา ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากค่าเช่าในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุ AOT มีแผนเพิ่มรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวผ่าน AOTTO โดย AOT เป็นหนึ่งในบริษัทที่จะเห็นผลประกอบการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่ผ่านบริษัท AOTTO ที่ดำเนินงานบริหารโครงการสินค้าเน่าเสียง่าย จะเริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ค.นี้
ส่วนแผนการขยายสนามบินนอกเหนือจากอาคาร SAT-1 ที่จะเปิดในเดือน ก.ย.นี้ โครงการอื่น ๆ ยังเป็นไปตามแผน โดยรันเวย์แห่งที่ 3 จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี ขณะที่การขยายสนามบินจะมีทั้งที่ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต ซึ่งจะทยอยทำ และแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2031 ซึ่งจะทำให้สนามบินของ AOT รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 200 ล้านคน จากปัจจุบันที่รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 100 ล้านคน จึงแนะนำ “ซื้อ” และให้ราคาเป้าหมายที่ 82 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2566 ของ AOT ขึ้น 22% และรักษาแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว พร้อมปรับเพิ่มราคาเป้าหมายด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) เพิ่มขึ้นเป็น 85 บาท จาก 84 บาท การปรับเพิ่มประมาณการดังกล่าวเพื่อสะท้อนถึงจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเกินคาด ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (ต.ค. 2565-มี.ค. 2566) ปัจจุบันประมาณการเที่ยวบินจำนวนผู้โดยสารของ AOT จะฟื้นตัวที่ 81%
โดยคาดกำไรไตรมาส 3/2566 ของ AOT (เม.ย.-มิ.ย. 2566) ที่ 3.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายงานขาดทุน 2.4 พันล้านบาท ในไตรมาส 3/2565 และกำไร 1.9 พันล้านบาท ในไตรมาส 2/2566