ทำความรู้จัก 3 หุ้น “ไอพีโอ” ลงสนามเทรด มิ.ย.นี้

3 หุ้นไอพีโอ TBN-BLC-TPL เตรียมเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยภายในเดือน มิ.ย.นี้ ประเดิมด้วย TBN ลงสนามเทรดพรุ่งนี้ ลุ้นราคาวิ่งเหนือไอพีโอ 17 บาท


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน ที่เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก (หุ้นไอพีโอ) ในช่วงที่เหลือของเดือนมิ.ย.นี้ อีก 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN, บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC และ บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL

โดย TBN เตรียมจดทะเบียนและเข้าทำการซื้อขายในตลาด เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 19 มิ.ย. ด้วยราคาเสนอขาย IPO ที่หุ้นละ 17 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 425 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO ที่ 1,700 ล้านบาท โดยมีบริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน มีบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ

สำหรับ TBN ดำเนินธุรกิจให้บริการออกแบบและพัฒนาระบบดิจิทัลแบบครบวงจร โดยให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและพัฒนาโซลูชันตามความต้องการของลูกค้าด้วยซอฟต์แวร์ Low-Code development platform (Low Code) ของ MENDIX ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชัน หรืองานดิจิทัลโซลูชั่นได้รวดเร็ว ปัจจุบันบริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ MENDIX ของ Siemens รายแรก และรายเดียวในประเทศไทย มีบริษัทย่อย คือ บริษัท บ๊อพ จำกัด ถือหุ้น 70% ดำเนินธุรกิจให้บริการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ High Code กลุ่มลูกค้าของบริษัทเป็นกลุ่มองค์กรชั้นนำในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มการเงินและประกันภัย ไตรมาส 1/2566 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากงานพัฒนาระบบและงานบริการเกี่ยวเนื่อง : งานสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและอื่นๆ เท่ากับ 55 : 45

ด้าน นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TBN เปิดเผยว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อรองรับ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ใช้ในการเพิ่มจำนวนบุคลากร การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนโครงการและจำนวนบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น

ด้าน BLC เตรียมจดทะเบียนและเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ด้วยเสนอขาย IPO ที่ราคาหุ้นละ 10.50 บาท มูลค่า คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 1,575 ล้านบาท โดยลงนามแต่งตั้งให้ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ พร้อมแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญร่วม

นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ กล่าวว่า หลังจากนำเสนอแผนดำเนินงานและศักยภาพการเติบโตของ BLC พบว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่ดีจากความได้เปรียบเชิงการแข่งขันของบริษัทฯ ที่มีความแข็งแกร่งจากการเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน ซึ่งมีความจำเป็นในการรักษาโรคครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ และมีผลิตภัณฑ์สุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ และเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจมากว่า 30 ปี ทั้งในสถานพยาบาล ร้านขายยาชั้นนำในประเทศกว่า 8,000 แห่ง และส่งออกไปยังกว่า 10 ประเทศทั่วโลก มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ทั่วถึง

อีกทั้งมีศูนย์วิจัย BLC ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านสมุนไพร เพื่อยกระดับสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก รวมทั้งสามารถรองรับการเติบโตของเทรนด์ด้านสุขภาพในอนาคต

โดยบริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ลงทุนโครงการในอนาคต จ่ายคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาทางการเงิน และ/หรือผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

ด้าน ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BLC เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี บริษัทฯ มุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ (Trusted Solutions for Lifelong Well-being) ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของ BLC สร้างการยอมรับจากสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ เอกชน ร้านขายยาชั้นนำทั้งในประเทศกว่า 8,000 แห่ง และส่งออกไปกว่า 10 ประเทศทั่วโลก โดย BLC พร้อมสร้างการเติบโตต่อเนื่อง เพื่อรองรับศักยภาพการเติบโตของเทรนด์สุขภาพในอนาคต

ขณะที่ TPL เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ด้าน นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ TPL เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ TPL เป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าจะสามารถ

โดย TPL ได้ยื่นเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering หรือ IPO) จำนวน 120  ล้านหุ้นมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็น 22.90%ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท โดยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจบริการ

นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPL เปิดเผยว่า แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการรุกขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตในอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงการในอนาคต อีกทั้งการระดมทุนในครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดความสำเร็จของบริษัทอีกด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างสูงสุด ทำให้บริษัทสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิม และสามารถเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาใช้บริการขนส่งสินค้าได้มากขึ้น ดังนั้นจึงมองหาโอกาสที่จะขยายขีดความสามารถในส่วนของศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้า รถขนส่ง และระบบการจัดการงานขนส่ง เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนลูกค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างครบวงจรมากขึ้น

สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้ในการจัดหาที่ดินและก่อสร้างศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้าประจำภูมิภาค รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าในเขต กทม. การซื้อยานพาหนะที่เป็นรถขนส่งแบบ EV การสร้างสถานีชาร์จไฟและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพสนับสนุนการเติบโตในอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายภัทรลาภ กล่าว

อนึ่ง TPL ประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทยทั้งสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ให้สามารถประกอบธุรกิจขนส่งได้ โดยลักษณะการให้บริการหลักของบริษัท

ได้แก่ การรับสินค้าหรือสิ่งของจากจุดบริการทั่วประเทศหรือรับจากลูกค้าโดยตรง แล้วรวบรวมมาคัดแยกที่จุดคัดแยกเพื่อนำไปส่งที่จุดหมายปลายทาง ซึ่งมีทั้งคลังสินค้า โรงงาน ร้านค้า หรือบ้านของลูกค้า รวมถึงสาขาของบริษัท  และมีการให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง (Cash on Delivery: COD) โดยลูกค้าที่ใช้บริการกับบริษัทสามารถติดตามสินค้าที่จัดส่งได้จากระบบของบริษัท (Parcel Tracking) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการการขนส่งที่บริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยบริหารจัดการการจัดส่งสินค้า โดยครอบคลุมตั้งแต่การรับสินค้า การออกบาร์โคด (Barcode) สำหรับตรวจสอบสถานะการจัดส่ง การบันทึกการจัดรถเพื่อรับและส่งสินค้า การบันทึกข้อมูลลูกค้าปลายทางและข้อมูลการเก็บเงินปลายทาง

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการให้บริการเสริม (Fulfillment) เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า ได้แก่ บริการจัดส่งคืนเอกสารการจัดส่งสินค้าสู่ลูกค้าต้นทาง (Proof of Delivery: POD) บริการห่อหุ้มสินค้าและจัดชุดสินค้าเพื่อเตรียมกระจาย (Packing) ซึ่งเป็นการให้บริการเสริมให้แก่กลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจในปัจจุบัน

สำหรับโครงสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัทสามารถแบ่งได้ตามประเภทของการจัดส่ง ได้แก่ 1) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (Business to Business: B2B) 2) การจัดส่งแบบบุคคลถึงบุคคล (Customer to Customer: C2C) และ 3) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงบุคคล (Business to Customer: B2C)

ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 21.11 ล้านบาท  ขณะที่ในงวดไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2.41 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 18.90%จากงวดเดียวกันปีก่อนเท่ากับ 18.04% และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 0.53 เท่า

โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้งวดไตรมาส 1/2566 มีกำไรสูงขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการที่บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น ทั้งด้านการเติบโตของรายได้ในทุกกลุ่มลูกค้าและการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้นโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายยานพาหนะเก่าที่ปลดระวาง ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Back to top button