STARK ส่งงบปี 65 ขาดทุนอ่วม 6.6 พันล้าน! “ผู้สอบบัญชี” ไม่แสดงความเห็น
STARK ส่งงบปี 65 ขาดทุนอ่วม 6.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากงวดปี 64 หลังขาดทุนด้านเครดิต ต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง มูลหนี้สูงกว่าสินทรัพย์ ฟากผู้สอบบัญชี ไม่แสดงความคิดเห็น 3 ประเด็น ชี้หลักฐานทางบัญชีไม่เพียงพอ ตรวจสอบบริษัทลูกไม่ได้ พ่วงปมเจ้าหนี้หุ้นกู้ “คอล ดีฟอลต์” กว่า 2.2 พันล้านบาท
บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้นำส่งงบการเงินสำหรับปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงิน โดยไม่แสดงความเห็นด้วยเหตุที่ได้ พิจารณาถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง (Going Concern) ของกลุ่มบริษัทฯ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 พบว่า บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 25,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.31 จากปี 2564 และมีรายได้รวม 25,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.57 เปรียบเทียบกับปี 2564 โดยกลุ่มบริษัทฯ มีขาดทุนสำหรับปี 2565 จำนวน 6,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.04 เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 3,473 ล้านบาท
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการขาดทุนมาจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบหลักที่ราคาผันผวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้นทุนที่เพิ่มจากราคาซื้อวัตถุดิบที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ไม่สามารถถูกส่งผ่านไปสู่ลูกค้าได้ทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อเป็นสินค้าคงคลัง (made to stock) ประกอบกับ บริษัทไม่ได้ทำสัญญาลดภาระความผันผวนของราคาวัตถุดิบ (hedging contract) เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาซื้อวัตถุดิบหลักที่ส่งผลกระทบต่อผลกำไรของแต่ละคำสั่งซื้อจากลูกค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากแนวปฏิบัติทั่วไปของธุรกิจผลิตสายไฟฟ้า ดังนั้น เมื่อราคาวัตถุดิบหลักมีความผันผวนหรือปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลทำให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนของการซื้อวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนก่อให้เกิดผลขาดทุนจากการดำเนินการในที่สุด
ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทฯ มีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมจำนวน 6,628 ล้านบาท และมีส่วนของเจ้าของติดลบ จำนวน 4,404 ล้านบาท โดยหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่ เป็นเจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืมระยะสั้น เงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ซึ่งหนี้สินระยะสั้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดประเภทเงินกู้ยืมระยะยาวเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น เนื่องจากอัตราส่วนทางการเงินบางรายการไม่เป็นไป ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ระยะยาวและหนังสือชี้ชวนหุ้นกู้
นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้หมายเลข STARK239A และ STARK249A ซึ่งมีเงินต้นคงค้างรวมเป็นจำนวน 944 ล้านบาท มีมติอนุมัติเรียกให้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หุ้นกู้ทั้งหมดถึงกำหนดโดยพลัน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้วงเงินทุนหมุนเวียนและจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน ทางกลุ่มบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหา หนี้สินของกลุ่มบริษัทฯ จากปัจจัยดังกล่าว ทำเกิดความไม่แน่นอนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยต่อ ความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทฯ
กลุ่มบริษัทฯ ตระหนักถึงความกังวลของนักลงทุนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อความล่าช้าในการจัดทำงบการเงิน ประจำปี 2565 ของกลุ่มบริษัทฯ และการเลื่อนกำหนดการส่งงบการเงินจำนวนหลายครั้ง ดังนั้นเพื่อให้การจัดทำรายงานทางการเงินที่สะท้อนฐานะการเงินและผลดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงการปรับปรุงรายการบัญชีการเงินที่เกี่ยวข้องให้สะท้อนความเป็นจริง และให้ความร่วมมือแก่ผู้สอบบัญชีฯ ให้สามารถดำเนินการตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินอย่างอิสระ
โดยกลุ่มบริษัทฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและคณะกรรมการของกลุ่มบริษัทฯ ในเดือนเมษายน 2566 โดยผู้บริหารและคณะกรรมการชุดใหม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการตรวจสอบบัญชีและการตรวจสอบพิเศษ (special audit) เพื่อแก้ไขการจัดส่งงบการเงินล่าช้า และพยายามปฏิบัติตามกำหนดการส่งงบการเงินประจำปี 2565 ในระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2566 ตามที่กลุ่มบริษัทฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566
ทั้งนี้กลุ่มบริษัทฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อตรวจสอบ ข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (special audit) รวมถึงการขยายขอบเขตการ ตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่มเติม อันเป็นการปฏิบัติตามหนังสือของ กลต. ฉบับ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ และผลของการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษดังกล่าวอาจจะเกิดการปรับปรุง ข้อมูลในงบการเงินของบริษัทฯ ได้จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตรวจสอบพิเศษ (special audit) ต่องบการเงินของบริษัทฯ โดยเฉพาะรายการในงบกระแสเงินสดได้ ดังนั้นหากตรวจพบรายการปรับปรุงเพิ่มเติม กลุ่มบริษัทฯ จะดำเนินการแก้ไขตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา
ทั้งนี้หลังจาก STARK ได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้สอบบัญชี บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงิน โดยไม่แสดงความเห็น ด้วยสาเหตุที่สรุปเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้
1.ผู้สอบบัญชีไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ด้วยสาเหตุหลัก ดังนี้
1.1. การตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (ทั้งในระยะแรก และระยะที่สองตามขอบเขต ก.ล.ต.ให้ขยายขอบเขตเพิ่มเติม) ซึ่งต้องทำการตรวจสอบบริษัท บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) และบริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จ ากัด (TCI) ยังไม่แล้วเสร็จ
1.2. ไม่สามารถตรวจสอบการบันทึกรายการรับเงินและรายการจ่ายเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ของ PDITL ได้ครบถ้วน เนื่องจากขาดหลักฐานประกอบการตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารจำนวนมาก
1.3. ผู้สอบบัญชีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สอบบัญชีของ PDITL ในระหว่างปี จึงไม่ได้ตรวจนับสินค้าคงเหลือต้นปีบัญชี ณ วันที่ 1 มกราคม 2565 จำนวน 5,702 ล้านบาท จึงไม่สามารถระบุได้ว่า มีรายการปรับปรุงใดที่จำเป็นต่องบการเงินประจำปี2565 หรือไม่
2.มีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก
2.1. มีผลการดำเนินงานรวมขาดทุนสุทธิจำนวน 6,651 ล้านบาท (เฉพาะบริษัท: 15,134 ล้านบาท )
2.2. มีขาดทุนสะสมรวมจำนวน 10,379 ล้านบาท (เฉพาะบริษัท: 14,999 ล้านบาท )
2.3. มีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมจำนวน 6,628 ล้านบาท (เฉพาะบริษัท: 1,198 ล้านบาท )
2.4. มีส่วนของเจ้าของติดลบจำนวน 4,404 ล้านบาท (เฉพาะบริษัท 2,492 ล้านบาท)
2.5. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้หมายเลข STARK239A และ STARK249A มีมติเรียกให้บริษัทชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หุ้นกู้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระโดยพลัน ซึ่งมียอดเงินต้นค้างชำระรวมเป็นเงินจำนวน 2,241 ล้านบาท
3.รายงานการสอบบัญชีแบบไม่แสดงความเห็นของผู้สอบบัญชีบริษัทย่อย ผู้สอบบัญชีของบริษัทย่อยราย Thinh Phat Cables Joint Stock Company (TPC) และ Dong Viet Non-Ferrous Metal and Plastic Joint Stock Company (DVN) ได้ออกรายงานการสอบบัญชีแบบไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ตามรายงานลง วันที่15 มิถุนายน 2566
สำหรับแนวทางจัดการ คือ (ก) ร่วมหาแนวทางที่เหมาะสมกับผู้สอบบัญชีในการปรับปรุงรายการบัญชีที่สำคัญ (ข) เร่งประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง (เช่น ธนาคารต่าง ๆ ) เพื่อขอข้อมูลมาให้ผู้สอบบัญชีดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม และเร่งดำเนินการเตรียมข้อมูลและจัดชุดเอกสารทางบัญชีในช่วงเวลาที่ต้องทำการตรวจสอบเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สอบบัญชีในการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม (extended-scope special audit)
(ค) ปรับแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินของกลุ่มบริษัท เพื่อให้มีผลกำไรและแก้ไขให้ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวก เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง