‘ญี่ปุ่น’ ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า.!

ถือว่าเหนือความคาดหมายจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ เมื่อ “การส่งออกของญี่ปุ่น” ช่วงเดือน พ.ค. 66 เติบโต 0.6% หลังจากยอดขายรถยนต์เติบโตอย่างโดดเด่น


ถือว่าเหนือความคาดหมายจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ เมื่อ “การส่งออกของญี่ปุ่น” ช่วงเดือน พ.ค. 66 เติบโต 0.6% หลังจากยอดขายรถยนต์เติบโตอย่างโดดเด่น แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะเป็นแบบเชื่องช้าก็ตาม จากการที่อัตราเงินเฟ้อ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อดีมานด์ทั่วโลก 

ส่วนธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและบริการ เริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจน นับตั้งแต่ญี่ปุ่นผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แต่ภาคการผลิตกลับไม่เติบโตตามการฟื้นตัวในประเทศ ท่ามกลางดีมานด์ที่อ่อนตัวของผลิตภัณฑ์วัฏจักร (cyclical item) เช่น เครื่องจักรสำหรับการผลิตไมโครชิป เป็นต้น

โดยข้อมูลจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยให้เห็นว่าการส่งออกเดือน พ.ค. 66 ขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ถือว่าอยู่ในแดนบวกต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 27 ติดต่อกัน โดยมาจากยอดการส่งออกรถยนต์เติบโต 66%

แม้ตัวเลขภาพรวมการส่งออก จะเป็นการเติบโตช้าสุด นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 64 แต่สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ ที่คาดการณ์ไว้การส่งออกจะติดลบ 0.8%

Darren Tay นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics ระบุว่า การส่งออกอุปกรณ์สำหรับเซมิคอนดักเตอร์และสินค้า ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออกที่ปรับตัวลงในไต้หวันและเกาหลีใต้ แต่การส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แข็งแกร่งมาช่วยชดเชย

“ทาเคชิ มินามิ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยโนรินชูคิน กล่าวว่า ดีมานด์ในประเทศอาจเป็นปัจจัยหลักของการเติบโตและปรับตัวสูงขึ้นกว่าการส่งออกที่ลดลงเป็นการชั่วคราว 

อย่างไรก็ดีกลุ่มผู้ผลิตยังประสบปัญหาอยู่ จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องจักรปรับสูงขึ้น 5.5% ช่วงเดือน พ.ค. จากเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการขยายตัวครั้งแรกรอบ 3 เดือน สูงกว่าค่ากลางที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 3% อย่างไรก็ตามยอดคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตกลับลดลง 3% หากเทียบเป็นการเติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า ยอดคำสั่งซื้อสินค้าเครื่องจักรลดลง 5.9% แต่น้อยกว่าที่มีการคาดการณ์ว่าจะหดตัวลง 8%

สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ญี่ปุ่นขยายตัว 2.7% ช่วงไตรมาสแรกปี 2566 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่เปิดเผยออกมาตอนแรกที่ 1.6% อยู่มาก โดยได้รับผลบวกจากการลงทุนในประเทศ และการบริโภคจากภาคเอกชน ที่ช่วยหักล้างดีมานด์ที่ชะลอตัวจากต่างประเทศได้

ทั้งนี้ญี่ปุ่นรายงานตัวเลขขาดดุลทางการค้า 1.37 ล้านล้านเยน สูงกว่าคาดการณ์ที่ 1.33 ล้านล้านเยน เพียงเล็กน้อย โดยการส่งออกไปยังจีนที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของญี่ปุ่นปรับตัวลดลง 3.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการลดลงเดือนที่ 6 ติดต่อกัน จากยอดส่งออกเหล็ก และอะไหล่ยานยนต์ที่ลดลง แม้สินค้าจำพวกยานยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์ จะเห็นการเติบโตก็ตาม

จากข้อมูลดังกล่าว ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% เป็นไปตามคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่า ญี่ปุ่นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและควบคุมอัตราดอกเบี้ยหลังจากได้ประชุมร่วมกันนานถึง 2 วัน 

“ธนาคารกลางญี่ปุ่น” ออกแถลงการณ์ต่อนโยบายการเงิน ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และตลาดเงินทั้งในและต่างประเทศ มีความไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ธนาคารดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป  พร้อมกับสนองต่อการพัฒนาการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเงื่อนไขทางการเงิน

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่น BOJ ระบุว่า จะมีการฟื้นตัวระดับปานกลางประมาณกลางปีงบประมาณ 2566 เนื่องจากคงรักษาดีมานด์ และมีการส่งสัญญาเตือนว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการเติบโตทางเศรษฐกิจในต่างประเทศจะชะลอตัวและมีแนวโน้มที่จะจำกัดขยายตัวเพิ่มขึ้น.!

Back to top button