พาราสาวะถี

ถือเป็นความท้าทายอันมีเจตนาที่จะทดสอบกระบวนการทำงานของ ป.ป.ช. ต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สินหลังจากพ้นตำแหน่ง ส.ส. ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์


ถือเป็นความท้าทายอันมีเจตนาที่จะทดสอบกระบวนการทำงานขององค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สินหลังจากพ้นตำแหน่ง ส.ส.ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ขอยืดเวลาและเดดไลน์ที่ขยายเวลาวันสุดท้ายคือ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ทีมทนายส่วนตัวระบุว่าได้ส่งเอกสารดังกล่าวแล้วผ่านช่องทางไปรษณีย์ไทยในวันเดียวกัน คอยดูกันว่า ป.ป.ช.จะยึดเอาวันที่ประทับตราส่งเรื่องของไปรษณีย์หรือไม่

อาจมีคำถามโดยเฉพาะจากพวกกองแช่ง มีเวลาตั้งนานทำไมจึงเลือกที่จะส่งเอกสารทางไปรษณีย์ในวันสุดท้ายขนาดนั้น ตรงนี้ต้องบอกว่าเมื่อกติกาไม่ได้ปิดช่องไว้ว่าต้องนำส่งที่สำนักงาน ป.ป.ช.เท่านั้น มันย่อมสามารถทำได้ ขณะเดียวกันไม่ว่าจะส่งด้วยกระบวนการแบบไหนสุดท้ายก็หนีไม่พ้นพวกนักร้องที่จะหาจุดไปยื่นร้องโน่นนี่นั่นตลอดเวลา เหมือนกับล่าสุดที่มีการไปร้องให้ตรวจสอบที่ดินของพิธาซึ่งระบุว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากมรดก

เป็นธรรมดาของคนที่กลายเป็นตำบลกระสุนตก มีการสกัดทุกทางเพื่อไม่ให้เจ้าตัวก้าวขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้ได้ แต่พิจารณาจากเรื่องที่ถูกร้องเรียนแล้ว ปัญหาหุ้นไอทีวีไม่น่าจะล้มพิธาได้ ไม่ว่าจะด้วยช่องทางใดก็ตาม ดังนั้น หนทางที่จะทำให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกลไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้ จึงอยู่ที่จำนวน ส.ส.ซึ่งจะได้มีการรับรองจาก กกต. ระยะห่างของจำนวนกับเพื่อไทยยังคงอยู่ที่ 10 ที่นั่งเหมือนเดิมหรือไม่

หากมีการแขวน ส.ส.ของพรรคอันดับ 1 ไว้มากตามการข่าวที่เล็ดลอดมาก่อนหน้านั้น แล้วส่งผลให้พรรคอันดับ 2 ขยับขึ้นมาเป็นแกนนำแทน ฝันของพิธาก็อาจจะค้างได้ หรือหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ปัญหาใหญ่ของก้าวไกลกับว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ก็คือเสียงโหวตหนุนจาก ส.ว.ลากตั้ง ที่หลังผ่านการเลือกตั้งมานานกว่า 1 เดือน จนถึงเวลานี้ยังไร้เสียงตอบรับว่าจำนวนของ ส.ว.มีมากพอที่จะทำให้พิธาก้าวไปถึงฝันได้ มิหนำซ้ำ ยังดูท่าว่าจะลดน้อยถอยลงจากก่อนหน้านี้เสียด้วยซ้ำ

ประกอบกับปัญหาเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จนถึงนาทีนี้ยังไร้คำตอบจากพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลจะยอมตามที่เพื่อไทยร้องขอหรือไม่ แอ็กชันของแต่ละฝ่าย ก้าวไกลส่งสัญญาณโดย รังสิมันต์ โรม ตำแหน่งนี้ต้องเป็นของพรรคอันดับ 1 เท่านั้นเพื่อขับเคลื่อนงานสภา ขณะที่พรรคอันดับสองแม้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคดูเหมือนจะยอมยกธงขาว แต่คนของพรรคอย่าง อดิศร เพียงเกษ แสดงท่าทีแข็งกร้าวเก้าอี้สำคัญขนาดนี้จะตัดสินจากแกนนำแค่ 1-2 คนไม่ได้ พร้อมกล่าวหาว่าเสี่ยอ้วนเป็นก้าวไกลไปแล้ว

ขณะที่สองหัวหน้าพรรคอย่าง พิธา กับ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ก็โยนให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประสานงาน ซึ่งระดับนำชักเริ่มจะเป็นห่วงแล้วว่าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้เกรงว่าจะกลายสภาพเป็นคณะกรรมการประสานงากันเสียมากกว่า พอเข้าใจได้เหตุที่ต้องสงวนท่าทีกันขนาดนี้ก็เพื่อรักษาบรรยากาศของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล ไม่ให้มีภาพความบาดหมางเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปเปิดแผลขยายผล จนเข้าทางพวกเสี้ยม

ความชัดเจนทั้งหลายน่าจะเกิดขึ้นทันทีที่ กกต.ได้มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง แนวโน้มเป็นไปได้มากว่าจะเข้าสูตรรับรองไปก่อนสอยทีหลัง ปมของประธานสภาฯ ท้ายที่สุดก้าวไกลก็จะยืนกรานไม่ทำตามข้อเรียกร้องของเพื่อไทย ซึ่งการวางทางถอยของภูมิธรรมนั้นเป็นการมองจากภาพแห่งความเป็นจริง แสดงมารยาททางการเมือง แต่อีกด้านคือรู้กันอยู่แล้วว่าโหวตเลือกนายกฯ ไม่ใช่งานง่าย ทำยังไงพิธาก็ไม่น่าจะผ่านด่าน ส.ว.ลากตั้งได้

ดังนั้น การที่คนของเพื่อไทยไม่ได้เป็นประธานสภาฯ ก็เท่ากับไม่เป็นการเปลืองตัว และจะเป็นการดีเสียด้วยซ้ำ หากท้ายที่สุดพิธาไม่ได้รับเสียงหนุนตามที่กฎหมายกำหนด แล้วจำเป็นต้องหันมาใช้บริการแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอันดับสอง ก็จะเป็นคนของก้าวไกลที่ทำหน้าที่ประธานสภาฯ นั่นแหละ ที่จะต้องคุมเกมแล้วเกิดข้อตกลงทางการเมืองบรรลุผลสำเร็จร่วมกัน ไม่มีปัญหาเรื่องคะแนนโหวต พรรคของนายใหญ่ก็จะได้เก้าอี้ผู้นำฝ่ายบริหารไปแบบไม่ต้องออกแรงให้เมื่อย

ความพยายามในการพลิกสูตรการเมืองกรณีที่เกิดการติดขัดจากเสียงหนุนของ ส.ว.นั้น ใน 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลมีการคุยกันตลอดเวลา โดยที่อีกด้านเพื่อไทยก็เดินเกมเจรจาเพื่อหาทางออกให้ฝ่ายเสียงข้างมากเดินไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จ เพียงแต่เงื่อนไขที่เสนอไปฝ่ายก้าวไกลต้องไปตกลงกันให้ได้ หากอยากที่จะส่งเผด็จการสืบทอดอำนาจกลับบ้าน ต้องยอมที่จะซื้อใจพวกที่พร้อมจะให้ความร่วมมือ เพียงแต่เบื้องต้นยังตกลงกันไม่ได้ เมื่อมีเสียงหนุนจาก ส.ส.ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มร่วมเซ็นเอ็มโอยูแล้ว สถานะของคนหรือพรรคนั้นจะเป็นอย่างไร

เข้าร่วมรัฐบาลด้วยเลยหรือไม่ จุดนี้จะสร้างความลำบากใจให้กับก้าวไกลเป็นอย่างมาก ในทางกลับกันก็พบว่ามีความพยายามที่จะเดินเกมของสมาชิกสุดโต่งภายในพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล จะใช้มวลชนที่สนับสนุนมาสร้างแรงกดดันต่อ ส.ว.ลากตั้งในวันโหวตเลือกนายกฯ และมีข่าวว่าพร้อมที่จะแปรสภาพให้เป็นม็อบแสดงพลังไม่เอาสมุนของเผด็จการสืบทอดอำนาจด้วย แต่ตรงนี้ได้มีการปรามกันไว้ในส่วนของแกนนำที่เป็นผู้ประสานงาน เพราะยังเชื่อว่าอยู่ในทิศทางที่จะสามารถเจรจากันได้อยู่

สำหรับแรงกดดันที่จะเกิดจากพรรคพวกเดียวกันนั้น ให้จับตาดูการหารือของหัวหน้า 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลที่เลื่อนการนัดหมายจากวันนี้ (20 มิถุนายน) ไปเป็นวันที่ 22 มิถุนายนแทน ด้วยเหตุที่ว่า กกต.น่าจะมีการรับรองผลเลือกตั้งในวันพุธนี้ ถ้าเป็นจริงจนสามารถนำไปสู่การเปิดประชุมสภาฯ และไปถึงโหวตเลือกนายกฯ ได้ ก็จะได้คุยกันให้จบในคราวเดียวทั้งเก้าอี้ประธานสภาฯ และการจัดสรรโควตารัฐมนตรี แนวโน้มน่าจะหาทางลงร่วมกันได้มากกว่าแตกหัก เพียงแต่ว่าอาจจะมีเงื่อนไขงอกมาจากเดิมเพื่อไม่ให้ฉันทามติจากประชาชนกลายเป็นหมัน

Back to top button