DIF ร่วงต่อ 6% เซ่นข่าวลือกดดัน ฟาก SCBAM ย้ำปันผลสูง 9%
DIF ลบต่อ 6% หลังข่าวลือระบุปัจจัยเสี่ยง 5 ข้อ ฟาก SCBAM ฐานะผู้จัดการกองทุนชี้เป็นข่าวเก่า ย้ำสัญญาเช่าเสาของ TRUE มีอายุอีก 10 ปี และแก้ไขไม่ได้ ยันไม่กระทบปันผลแน่ ยีลด์สูง 9% ล่าสุด DTAC เตรียมขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 มิ.ย.66) ราคาหน่วย กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ณ เวลา 10:15 น. อยู่ที่ระดับ 10.20 บาท ลบ 0.60 บาท หรือ 5.56% สูงสุดที่ระดับ 10.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 10.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 484.83 ล้านบาท
โดยการร่วงลงของหน่วยลงทุน DIF มีรายงานว่า มาจากการปล่อยข่าวเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง 5 ข้อ ที่จะเข้ามากระทบกับผลการดำเนินงานของ DIF รวมถึงการจ่ายเงินปันผล
ล่าสุด นางทิพาพรรณ ภัทรวิกรม Executive Director กลุ่มการลงทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ในฐานะผู้จัดการกองทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ DIF กล่าวกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า 5 ปัจจัยเสี่ยงที่มีการแชร์ในโซเชียล ทั้งหมดเป็นข้อมูลเก่า มีการรายงานที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนไปแล้ว และบางเรื่องก็ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ นางทิพาพรรณ กล่าวชี้แจงถึงปัจจัยเสี่ยงข้อแรกที่บอกว่า “สิ้นปี 2566 จะครบปีที่ 10 ของการได้รับยกเว้นภาษี 10 ปี ทำให้ผู้ถือหน่วยต้องเริ่มจ่ายภาษี 10% สำหรับเงินปันผลนั้น” โดยเรื่องนี้นักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุน DIF ต่างรับทราบไปหมดแล้ว เพราะกองทุนฯ ได้กล่าวย้ำในที่ประชุมผู้ถือหน่วยฯ เมื่อเดือน เม.ย.2566 ไปแล้วว่า เงินปันผล DIF ที่นักลงทุนได้รับปีนี้จะต้องเสียภาษี ซึ่งกองทุนอินฟราฯ และกองทุนอื่น ๆ เสียภาษีนี้เช่นกัน
เรื่องที่สอง “นักลงทุนกังวลว่าสัญญาเช่าเสาของ DTAC จะหมดอายุ มี.ค. 2567 โอกาสเช่าต่อมีน้อยทำให้กระทบรายได้ค่าเช่า 3%” โดยประเด็นนี้ขอชี้แจงว่ากระทบน้อยมาก เพราะมีผู้เช่าหลักคือ TRUE ที่ไม่สามารถแก้สัญญาฯ ได้ในช่วง 10 ปีนับจากนี้ (หมดสัญญาปี 2576)
เรื่องที่สาม เรื่อง “โครงสร้างเงินกู้ของกองทุนฯ เป็น float rate ตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปัจจุบัน จากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว 1.5% ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายของกองทุนฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 420 ล้านบาท” ซึ่งในประเด็นนี้ เมื่อเทียบกับขนาดของกองทุนฯ ที่อยู่ในระดับสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และรายได้ที่เข้าทั้งปีที่ 20,000 ล้านบาท แม้ดูว่าตัวเลขดอกเบี้ย 420 บาทดูเป็นตัวเลขที่ใหญ่พอเทียบกับรายได้แล้วถือว่าน้อยมาก
เรื่องที่สี่ “กองทุนฯ มีเงินกู้รวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท เทอม 5 ปี ทยอยคืนเงินต้นทุกปี ปีละ 20% กองทุนจึงต้องกันเงินสำรองไว้เพื่อคืนเงินต้น กระทบการจ่ายปันผลให้ผู้ถือหน่วย” นางทิพาพรรณ ชี้แจงว่า ประเด็นดังกล่าวกองทุนฯ จ่ายหนี้คืน 20% ระหว่างช่วง 5 ปี ไม่ได้จ่ายทุกปีอย่างที่เข้าใจกัน ทำให้ไม่กระทบกับเงินปันผลของกองทุนฯ
ส่วนเรื่องสุดท้าย “การควบรวม TRUE-DTAC เป็นไปได้ที่ TRUE จะเช่า DIF น้อยลง หันไปใช้เครือข่ายของ DTAC ซึ่งจะกระทบโครงสร้างรายได้ของ DIF” โดยในประเด็นนี้ไม่ได้กระทบโครงสร้างรายได้กองทุนฯ เลย เพราะ TRUE เป็นผู้เช่าหลัก
“กองทุน DIF ยังมีความสนใจและเหมาะน่าลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนเงินปันผลที่อยู่ในระดับสูงถึง 9% เมื่อเทียบกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) หรือกองรีทอื่น แม้ว่าปีนี้นักลงทุนจะต้องกลับมาเสียภาษีเงินปันผลที่ระดับ 10% ก็ตาม” นางทิพาพรรณ กล่าว
นางทิพาพรรณ กล่าวอีกว่า กองทุนฯ ยังมีปัจจัยบวกในเรื่องของรายได้ค่าเช่าที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นตามเทรนด์การใช้ระบบสื่อสาร DIF ถือว่าเป็นฮับหลักต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันรายได้ของกองทุนฯ เติบโตต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันกองทุนฯ จะมีการเพิ่มทรัพย์สินใหม่ ๆ (จาก DTAC) เข้ามาใน DIF หลังการควบรวมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC
สำหรับปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุน DIF สูงถึง 1.5 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวจากวงการนักวิเคราะห์ กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาหุ้น DIF ร่วงหนักวานนี้ จากการสอบถามไปยัง DIF และ TRUE ได้คำตอบว่าไม่มีอะไรที่เป็นปัจจัยลบ และไม่ทราบว่าทำไมราคาถึงปรับลง จึงแนะนำให้นักลงทุนที่ยังไม่มี DIF ในพอร์ตให้รอข้อมูลก่อนเข้าลงทุน ส่วนนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่แล้วแนะนำว่าอย่าขาย