ยานแม่ SCBX พร้อมลุย ‘เวอร์ชวลแบงก์’
การจับมือกันระหว่าง SCBX กับ KakaoBank ในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้งสององค์กร ในการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาพัฒนาบริการ
เส้นทางนักลงทุน
ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือเวอร์ชวลแบงก์ (Virtual Bank) อีกครั้ง ในส่วนที่มีการเพิ่มรายละเอียดหรือเงื่อนไขอย่างมีนัยสำคัญ
จากก่อนหน้านี้ ธปท.ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ระหว่างวันที่ 12 มกราคม ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ไปรอบหนึ่งแล้ว ซึ่งคาดว่าธปท.จะเสนอหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้
ในชั้นแรก ใบอนุญาต Virtual Bank จะมีจำกัด เอกชนที่มีความพร้อมอย่างมากเท่านั้นที่มีโอกาสลุ้น ดังนั้นบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (SCBX) “ยานแม่” ของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของไทย จึงได้ลงนามความร่วมมือกับ KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ จัดตั้ง Consortium โดย SCBX จะมีสัดส่วนการถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และ KakaoBank จะมีสัดส่วนการถือหุ้นอย่างน้อย 20%
KakaoBank คือใคร ??? KakaoBank คือผู้ให้บริการธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2559 โดย KakaoBank เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2560 หลังได้รับใบอนุญาตธนาคารอย่างเต็มรูปแบบจาก Financial Services Commission of the Repubic of Korea ในเดือนเมษายน ปี 2560
KakaoBank มุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารที่ให้บริการโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ภายใต้สโลแกน “ช่วยให้คุณใช้บริการธนาคารได้ง่ายขึ้นในชีวิตประจำวันของคุณ” ด้วยการนำเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จำเป็น โดย KakaoBank นำเอาเทคโนโลยีอันทันสมัย เช่น Chatbot และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อมอบบริการธนาคารดิจิทัลบนมือถือที่ง่ายและน่าเชื่อถือที่สุดแก่ลูกค้า
สำหรับการจับมือกันระหว่าง SCBX กับ KakaoBank ในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้งสององค์กร ในการนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาพัฒนาบริการสำหรับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Underserved Group) ให้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และทั่วถึง
ทั้งนี้ Virtual Bank จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มโอกาสให้กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบนี้ ให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งการจัดตั้ง Virtual Bank ให้แข็งแรง จะต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการให้บริการเพื่อความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า
ดังนั้น KakaoBank ซึ่งเป็นธนาคารดิจิทัล 100% ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ที่มีจุดแข็งคือความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ Virtual Bank ตลอดจนมีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี ก็จะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถ พร้อมสนับสนุนให้กลุ่ม SCBX ซึ่งเป็นผู้นำในการให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินในประเทศไทย และมีความเข้าใจถึงความต้องการของตลาดเป็นอย่างดี ในการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ในเมืองไทยให้ประสบความสำเร็จ บรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยเพิ่มโอกาสคนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม Underserved ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก เหมาะสม และทั่วถึง
นอกจากนี้ SCBX และ KakaoBank กำลังร่วมกันพิจารณาหาพันธมิตรเพิ่มเติม เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนความแข็งแกร่งให้ครบทุกมิติในการขอใบอนุญาตเพื่อจัดตั้งและประกอบธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศไทยด้วย
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด มองเป็นบวกต่อการจับมือกันระหว่าง SCB กับ KakaoBank ซึ่งเป็นผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลเกาหลีที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เชื่อว่า KakaoBank จะช่วยนำประสบการณ์ทางด้านนี้มาช่วย SCB ในการดำเนินธุรกิจ virtual bank ให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ดี การขอใบอนุญาต virtual bank จากธปท. คาดว่าจะให้เริ่มยื่นขอได้ราวไตรมาส 3 ของปี 2566 และจะสามารถเริ่มเปิดดำเนินการได้ราวปี 2568 จึงมองว่าความร่วมมือดังกล่าวเป็นบวกในระยะยาว
คาด SCB น่าจะมีการตั้งสำรองหนี้เสียสำหรับลูกหนี้บางราย แต่ประเมินว่าในปีนี้ SCB จะกลับมามีกำไรสูงกว่าช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งราคาหุ้นปัจจุบันยังมี upside กว่า 26% แนะนำ “ซื้อ” ลงทุน
ส่วนบล.SBITO ระบุในบทวิเคราะห์ว่า SCB มีการตั้งเป้าสินเชื่อปี 2566 เติบโต 5-8% จากปี 2565 โดยจะมาจาก 1.ธุรกิจธนาคารเติบโตน้อยกว่า 5% และ 2.บริการทางการเงินเพื่อผู้บริโภคและดิจิทัลที่คาดเติบโตมากกว่า 40%
ขณะที่ ส่วนต่างดอกเบี้ยรับ (NIM) ตั้งเป้ามากกว่า 3.5% ส่วนอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ (Cost to income ratio) คาดอยู่ที่ระดับ 40% และตั้งเป้า credit cost ในปี 2566 ลดลงสู่ระดับ 120-140 bps จากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้กำไรสุทธิของธนาคารเติบโตได้ต่อเนื่องในปี 2566
ไลเซนส์เวอร์ชวลแบงก์ เป็นที่หมายปองของหลาย ๆ กลุ่มธุรกิจ ลุ้นกันไม่นาน ไตรมาส 3/2566 นี้น่าจะได้คำตอบ ว่ากลุ่มไหนจะได้ไปครอบครอง