เกมนี้ (ประธานสภาฯ) แพ้ไม่ได้

นอกเหนือตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาล ตำแหน่ง “ประธานสภาฯ” น่าจะเป็นด่านแรกที่วัดใจ 2 พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ในสภามากที่สุด เพราะถือเป็นตำแหน่งที่ชี้วัดอนาคตการเมือง ที่ 2 พรรคการเมือง “แพ้ไม่ได้” และต้องได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติมาอยู่ในพรรคของตัวเอง


เหล่าบรรดา “New Voter” คงมีคำถามมากมายว่าเหตุใดตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร”จึงกลายเป็นตำแหน่งสำคัญที่สามารถชี้เป็นชี้ตายกับการจัดตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” เพราะทันทีที่เสียงอ๊อดเรียก นั้นหมายถึงการเริ่มต้นเส้นทางการจัดตั้ง “รัฐบาล” อย่างเป็นทางการ

โดยตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ถือเป็นด่านแรกของ ส.ส.ที่ต้องเฟ้นหาประมุข “ฝ่ายนิติบัญญัติ” เพื่อปูทางสู่ “ทำเนียบรัฐบาล” เพราะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” จะเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมร่วมของ 2 สภา เพื่อเลือก “นายกรัฐมนตรี” โดยบุคคลที่ทำหน้าที่ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” จะต้องเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ไม่นับรวมในช่วงเวลาปกติที่ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” มีส่วนสำคัญกับการขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งต้องยอมรับว่า 300 นโยบายที่พรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ ล้วนแต่ต้องขับเคลื่อนผ่านงานนิติบัญญัติ และที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลเอง ก็อาจมีภาพจำที่ไม่ดีในสมัยที่นายชวน หลักภัย ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร จนไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญได้ ไม่ว่าจะเป็น สุราก้าวหน้า หรือการสมรสเท่าเทียม

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เกมนี้พรรคก้าวไกล “แพ้ไม่ได้” และต้องส่งคนไปนั่งตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” เพื่อยึดหัวหาด “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ให้จงได้ เพราะไม่รู้ว่าด่านการเลือก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรีจะไปได้ไกลแค่ไหน เห็นได้จากหลุมพรางทางการเมืองที่ขุดมาเล่นงานไม่เว้นแต่ละวัน การมีตำแหน่งประมุข “นิติบัญญัติ” ของตัวเอง

จึงน่าเป็นหลักประกันว่า อย่างน้อยๆ เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลถึงทางตัน และต้องยอมให้พรรค “เพื่อไทย” ขึ้นมานำในการบริหารประเทศ  “ก้าวไกล” ยังสามารถใช้กลไกรัฐสภาขับเคลื่อนนโยบาย และผลงานของพรรค ซึ่งมีหลายเรื่องที่เป็น “เผือกร้อน” โดยเฉพาะการแก้ไข ม.112 ที่ไม่ได้อยู่ใน MOU ของ 8 พรรคร่วม ซึ่ง “ก้าวไกล” เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้าแตะ จนต้องสงวนสิทธิ์มาพูดคุยกันในกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ

ขณะที่พรรค “เพื่อไทย” เองแม้รู้ทั้งรู้ว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อาจไปไม่ถึงฝั่งฝันกับการทำหน้าที่ประมุข “ฝ่ายบริหาร” และส้มอาจหล่นมาอยู่ที่พรรคอันดับที่สองอย่าง “เพื่อไทย” และการหักกับ “ก้าวไกล” อาจไม่เป็นผลดีกับอนาคตการเมืองในวันข้าง แต่เชื่อว่าตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” อาจมีความหมายและมีอะไรซ่อนอยู่กับการเดินเกมการเมือง ทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรี และการเป็นรัฐบาลเพื่อไทย ที่มี “ก้าวไกล” เป็นระเบิดเวลา กับปมร้อนต่างๆ ถึงขั้นเกิดข้อเสนอยอมลดโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคให้ “ก้าวไกล” เพิ่มอีก 1 ที่นั่ง

เกมนี้จึงเป็นเกมวัดใจทั้งพรรค “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” ที่ต่างฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้ เพราะตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ถือว่ามีความหมายกับทั้ง 2 พรรคในการเดินเกมการเมืองนับจากนี้ และอาจกลายเป็น “เงื่อนไข” สำคัญกับการพลิกเกมการเมืองที่ดูเหมือนยังไม่มีอะไรแน่นอน

Back to top button