พาราสาวะถี

ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมีความสำคัญถึงขนาดที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอคืนเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ที่นั่งเป็นการแลกเปลี่ยนกับก้าวไกลเลยหรือ


ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมีความสำคัญถึงขนาดที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอคืนเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ที่นั่งเป็นการแลกเปลี่ยนกับก้าวไกลเลยหรือ อะไรคือเหตุผลที่พรรคอันดับสองต้องการนั่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เสียงจาก ส.ส.ของพรรคที่สะท้อนผ่านมติคงมองเห็นแล้วว่าหากปล่อยให้เก้าอี้นี้ไปอยู่ในมือของพรรคอันดับหนึ่ง เกรงว่าระยะยาวจะเป็นปัญหาต่อกระบวนการบรรจุญัตติในข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ก้าวไกลต้องการตำแหน่งนี้เช่นกัน

อย่าลืมเป็นอันขาดนโยบายสำคัญของพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลคือ การแก้ไขมาตรา 112 ซึ่ง 7 พรรคร่วมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และให้ไปใช้สิทธิกันในสภา แต่นั่นเป็นข้อตกลงกันเพื่อที่จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ซึ่งเมื่อเข้าสู่การทำหน้าที่แล้วไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะมีการรักษาสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่ โดยพรรคก้าวไกลมีบทเรียนจากการประสบปัญหาในการเสนอกฎหมายต่อสภาชุดที่แล้ว ที่การเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้รับการบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ

ดังนั้น จึงจำเป็นที่พรรคต้องขอควบเก้าอี้ประมุขของสองฝ่าย ปัจจัยที่ทำให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคนของพรรคกล้าที่จะปฏิเสธคำร้องขอของเพื่อไทย และทำให้การเจรจาต้องยืดเยื้อออกไป ทั้งที่เหลือเวลาไม่กี่วันที่จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาฯ กันแล้วคือ เสียงสนับสนุนผ่านการเลือกตั้งที่เห็นว่า หากมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลโดยพิธาชวดเก้าอี้นายกฯ ก้าวไกลถูกเขี่ยให้ไปเป็นฝ่ายค้าน จะเกิดการลุกฮือของประชาชนอย่างแน่นอน

จากปัจจัยนี้มันจึงทำให้คนของก้าวไกลเชื่อว่าจะเป็นแรงบีบคั้นให้เพื่อไทยไม่กล้าที่จะพลิกเกม เปลี่ยนขั้วไปจับมือกับพรรคการเมืองอื่นตั้งรัฐบาลแข่งอย่างแน่นอน ยังไงก็ต้องร่วมหัวจมท้ายกันต่อไป ทั้งที่ความจริงแล้วในมิติทางการเมืองหากพูดถึงทางเลือกพรรคอันดับสองมีมากกว่า จากตัวเลข ส.ส.ที่ห่างกันแค่ 10 เก้าอี้ ขณะที่ความยืดหยุ่นในการจับมือกับพรรคการเมืองอื่น ๆ นั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง พรรคหนึ่งสามารถร่วมงานกับพรรคต่าง ๆ ได้ ส่วนอีกพรรคถ้าหลุดจากที่ร่วมเซ็นเอ็มโอยูกันแล้ว ยากที่จะไปจับมือกับพรรคอื่นได้

ข้อได้เปรียบตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ส.ส.เพื่อไทยกล้าที่จะยืนยันให้ผู้บริหารพรรคสื่อสารไปยังคณะกรรมการเจรจา ยังไงเก้าอี้ประธานสภาฯ ก็ต้องเป็นของพรรค สุดท้ายปลายทางหากเจรจากันไม่จบ เมื่อถึงวาระการประชุมเราก็อาจจะได้เห็นการเสนอชื่อคนชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ที่มาจากทั้งพรรคร่วมตั้งรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน โดยที่พรรคอันดับสองจะปล่อยให้ ส.ส.ฟรีโหวต ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าจะเป็นโอกาสในการขอเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในซีกพรรคร่วมรัฐบาล

การเลื่อนหารือของกรรมการเจรจาของก้าวไกลและเพื่อไทยจาก 28 มิถุนายนออกไป ชัดแล้วว่าจะคุยกันให้จบในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ บทสรุปที่เป็นความเห็นร่วมของสองพรรคแกนนำคือ สุชาติ ตันเจริญ จะถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ โดยสองพรรคแบ่งตำแหน่งรองประธานสภาฯ ไปคนละ 1 ที่นั่ง และก้าวไกลได้โควตารัฐมนตรีคืนไป 1 ตำแหน่ง ตรงนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมตั้งรัฐบาล ซึ่งจะหมายถึงความมีเสถียรภาพหลังจับมือกันเดินไปข้างหน้าแล้ว

หากบทสรุปเป็นไปตามนี้ก็เหมือนที่ ชวน หลีกภัย ออกโรงเตือน “หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ” พร้อมบอกด้วยว่าที่กังวลหากประธานสภาฯ ไม่ใช่คนของพรรคตัวเองจะเป็นอุปสรรคต่อการเสนอกฎหมายที่เป็นนโยบายสำคัญของพรรคด้วยว่า  ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะประธานสภาฯ ไม่สามารถทำตามอำเภอใจหรือทำสิ่งที่ขัดกับข้อบังคับการประชุมได้ ยิ่งที่บอกว่าหากไม่ได้ประธานสภาฯ จะไม่ได้ตำแหน่งนายกฯ ก็ไม่จริง เพราะการเลือกนายกฯ ต้องลงมติจากสมาชิก ประธานสภาฯ ต้องดำเนินการตามมติของสภา ไม่สามารถเปลี่ยนคนได้ หรือประธานสภาฯ จะเกี่ยง ถ่วง หรือเสนอชื่อคนอื่นไม่ได้

ไม่เพียงเท่านั้น จอมหลักการยังย้ำและเป็นการมองเห็นลักษณะเฉพาะที่บุคลิกของคนจากพรรคก้าวไกลที่มีความเชื่อมั่นสูงด้วยว่า ฝ่ายที่ตั้งรัฐบาลไม่ใช่เอาทุกอย่างเป็นของตนเอง ต้องต่อรอง เพราะนอกจากเรื่องนี้ยังมีการต่อรองอื่น ๆ เช่น กระทรวง หากสามารถพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด และเข้าใจภารกิจบทบาทหน้าที่ การแบ่งอำนาจ จะทำให้เกิดความขัดแย้งน้อยลง แต่ที่มีความขัดแย้งมากเพราะไม่เข้าใจหลายเรื่อง เป็นการชี้ให้เห็นจุดของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องอาศัยการพูดคุย ทำความเข้าใจเพื่อตกลงให้สมประโยชน์กันทุกฝ่าย

กรณีนี้คงไม่ต่างจากที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ที่โพสต์ข้อความพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยกเอาอปริหานิยธรรม 7 ซึ่งธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม 7 ประการ หรือหลักธรรมสำหรับใช้ในการปกครอง เพื่อป้องกันมิให้การบริหารหมู่คณะเสื่อมถอยมาสะกิดเตือนพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลด้วย แม้เจ้าตัวจะออกตัวว่าแปลความหมายของธรรมดังกล่าวตามใจก็ตาม เพราะสิ่งที่ชี้นั้นมันคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากปัญหาความไม่ลงรอยของสองพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นเมื่อมีปัญหา จงปรึกษาในที่ประชุม มิควรเลิกนัดประชุมกลางดึก เมื่อมีประชุมพึงส่งคนที่ตัดสินใจได้เข้าประชุม อย่าพูดก่อนเข้าประชุม เสร็จประชุมจึงแถลงต่อสาธารณะ สิ่งใดเป็นจารีตประเพณีเป็นที่ยอมรับของสังคมหมู่มาก พึงยึดมั่นในสิ่งนั้นไม่ควรหาเหตุผลที่เข้าข้างตนเองมาสนับสนุน ความเห็นของผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ก็มีความสำคัญ โปรดรับฟังบ้าง ต้องให้ความสำคัญต่อประชาชน เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง  อย่ากดขี่ข่มเหงน้ำใจประชาชน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในบ้านเมืองที่มีมา พึงให้ความเคารพยำเกรง การบูชาไม่ได้ล้าสมัย ไหว้พระที่ควรไหว้ ก็จะเป็นเกราะคุ้มครองป้องกันตน อาจจะเหมือนการสื่อเตือนสติให้ตีความหมายกัน แต่ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนคนทั่วไปก็พึงเข้าใจได้ว่าที่อดีต กกต.ชี้มาทั้งหมดนั้น มันเป็นเรื่องที่สองพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลต้องตระหนักและหาทางตกผลึกร่วมกัน โครงสร้างของรัฐบาลผสมจากผลเลือกตั้งมันไม่สมดุลกัน ก้าวไกลจะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเพื่อไทย เพื่อไทยก็จะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดก้าวไกล แม้จะมีทางเลือกมากกว่า แต่ทางที่จะเดินมันคือหุบเหวแห่งหายนะไม่ใช่หนทางที่จะนำพาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองแต่อย่างใด

Back to top button