เปิดโผ 16 หุ้นเด่น รับอานิสงส์ “เงินเฟ้อไทย” มิ.ย. นิวโลว์รอบ 22 เดือน
โบรกฯคัด 16 หุ้นเด่น รับ “เงินเฟ้อไทย” เดือน มิ.ย. ชะลอตัวเหลือ 0.23% นิวโลว์รอบ 22 เดือน เน้นกลุ่มค้าปลีก-ท่องเที่ยว-อสังหาฯ-เช่าซื้อ CPALL,CRC,COM7,SPVI,HMPRO นำทีม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(5 ก.ค.66) กระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน มิ.ย.66 เพิ่มขึ้น 0.23% จากตลาดคาด 0.0-0.15% โดยเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือน 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือนตั้งแต่ ส.ค.64 เนื่องจากการลดลงราคาสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับฐานในเดือน มิ.ย.65 อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.66) เพิ่มขึ้น 2.49%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเดือนมิ.ย.66 เพิ่มขึ้น 1.32% ชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.87%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 66 ลดลงมาอยู่ที่ 1-2% จากเดิม 1.7-2.7% ตามสมมติฐานที่เปลี่ยนไปด้วย คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ โด 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 71-81 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 33.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ปรับใหม่นี้ ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3%
ทั้งนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจหุ้นกลุ่มหุ้นที่ได้เสียประโยชน์จากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค.66 ชะลอตัวเหลือ 0.23% โดยเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือน 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือนตั้งแต่ ส.ค.64 โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลมาจากบทวิเคราะห์โบรกเกอร์ชั้นนำของไทย อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด และบล.กรุงศรี พัฒนสิน ได้ระบุในบทวิเคราะห์ดังนี้
บล.เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(5 ก.ค.66) ว่า ฝ่ายวิจัยฯได้ประเมินเงินเฟ้อทั่วไปของไทยทั้งปี 66 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายใต้สมมติฐาน CPI Growth ระยะถัดไปขยายตัว 0.4%เทียบเดือนก่อนหน้าตามตลาดคาด ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่า CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 66) ที่ 3.0% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% และกระทรวงพาณิชย์ที่ 2.2%
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ของไทยในระยะถัดไปมีแนวโน้มทรงตัวมากขึ้น หาก CPI Growth เป็นไปตามตลาดคาดที่ 0.1% เทียบเดือนก่อนหน้า ซึ่งจะทำให้ Core CPI ตลอดทั้งปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.4%
โดยเงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และเฉลี่ยทั้งปีอาจน้อยกว่ากรอบเป้าหมาย ซึ่งจะอยู่ในโซนต่ำกว่าดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 2.0% ทำให้การเว้นวรรคปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม กนง. วันที่ 2 ส.ค. นี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ส่วนกลุ่มหุ้นที่คาดว่าได้รับประโยชน์ในช่วงเงินเฟ้อชะลอตัวลง ฝ่ายวิจัยฯได้คัดเลือกไว้ตามตารางด้านล่างนี้
สำหรับกลุ่มได้ประโยชน์ อาทิ 1.กลุ่มค้าปลีก CPALL, CRC, COM7, SPVI, HMPRO 2.กลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม ได้แก่ AOT, MINT, CENTEL, ERW 3.กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาทิ CPN, SPALI, LH, AP และ 4.กลุ่มเช่าซื้อ อาทิ TIDLOR, SAWAD, MTC ส่วนกลุ่มได้รับผลกระทบอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่ กลุ่มประกัน TLI, BLA
บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า วันนี้ติดตามรายงานเงินเฟ้อ CPI ไทย มิ.ย. 66 เงินเฟ้อทั่วไป ตลาดคาดทรงตัว เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบ prev. 0.53%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานตลาดคาด 1.4%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบ prev. 1.55% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทิศทางดังกล่าวสนับสนุนความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ระดับ 2.0% น่าจะเป็น Terminal Rate แล้ว ขณะที่เงินเฟ้อลดลงหนุนกลุ่มอิงการบริโภคภายใน อาทิ ค้าปลีก สื่อสาร เครื่องดื่ม และจิตวิทยาบวกต่อกลุ่มเช่าซื้อ เน้น CRC, TRUE, ICHI