จับตาพรุ่งนี้! รายย่อย STARK ร้อง DSI ฟ้อง“วนรัชต์” พร้อมพวกเอี่ยว “ฉ้อโกง-ฟอกเงิน”

ดร.ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ เผยกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เสียหาย STARK จำนวน 1.1 หมื่นคน เตรียมร้องทุกข์ DSI ดำเนินคดีฟ้อง “นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” พร้อมผู้ต้องหายจำนวน 7 ราย ข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน พร้อมประสาน ปปง. อายัดทรัพย์สิน


ดร.ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ประธานบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น ในฐานะที่ปรึกษาการลงทุนผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ค.66) กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เสียหาย 11,000 คน จะส่งผู้แทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยจำนวน 7 รายในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พร้อมจับกุม ควบคุมตัวกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดโดยพลัน อีกทั้งระงับการเดินทางไปต่างประเทศของกลุ่มบุคคลดังกล่าวภายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป และให้ DSI ประสานสำนักงานคณะกรรมการป้องปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดทรัพย์สิน รวมถึงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ร่วมขบวนการดังกล่าวทั้งหมดโดยพลัน

เนื่องจากทาง STARK ได้แจ้งให้ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ พ้นจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจใน STARK ตามหนังสือที่บริษัทแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม เวลา 21:00 น. เช่นเดียวกับพ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ที่ได้ลาออกจากการเป็นประธานบริษัท

หลังจากถูกอดีตประธานบริหารฝ่ายการเงิน หรือ CFO ของ STARK ให้สัมภาษณ์ทางรายการโทรทัศน์ว่าเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการตกแต่งบัญชี สามารถทำให้ขายหุ้นล็อตใหญ่ได้เป็นเงินนับหมื่นล้านบาท ในกรณีนี้นายวนรัชต์ได้ ให้ข่าวว่า เป็นเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการบริษัทเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจบริหาร เพราะได้ยกอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารกิจการให้กับ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ เป็นประธานกรรมการ

โดยผู้ถือหุ้นรายย่อยเกิดข้อกังขาว่าในเมื่อนายวนรัชต์เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการตกแต่งบัญชี ทำไมจึงเป็นเพียงผู้เสียหาย ไม่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ DSI ระบุว่ายังไม่มีใครมาร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายวนรัชต์ แต่เมื่ออดีต CFO ของ STARK ไปให้ข้อมูลหลักฐานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. และมีหลักฐานเส้นทางการเงินชัดเจน แต่ขณะนี้ ก.ล.ต.ยังไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี ดังนั้น ผู้เสียหายคือผู้ถือหุ้นรายย่อยจะไปร้องทุกข์กล่าวโทษเอง

อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยืนยันว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) มีอำนาจที่จะระงับความเสียหายได้หลายอย่าง ทั้งการอายัดทรัพย์สิน การห้ามเคลื่อนย้ายถ่ายเทหลักฐาน ประสานงานห้ามผู้ต้องสงสัยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร แต่ปล่อยเวลาล่วงเลยมาถึงบัดนี้ นอกจากนี้รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควรแสดงบทบาทครั้งสุดท้ายก่อนหมดอำนาจหน้าที่ด้วยการมีคำสั่งพิเศษขีดเส้นต่อก.ล.ต.ภายใน 3 วัน 7 วันให้เร่งดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ ประสานงานอายัดทรัพย์สินต่างๆ ตามเงินมาคืนผู้เสียหาย จะสามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นคืนตลาดทุนได้”เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้เรื่องดีเสนอแนะ

Back to top button