BA บวก 3% สวนตลาดฯ มั่นใจกำไรปีนี้ทะยานทุกไตรมาส โบรกฯแนะซื้อเคาะเป้าสูง 20 บ.

BA บวก 3% สวนตลาดฯ มั่นใจกำไรปีนี้ทะยานทุกไตรมาส ต้นทุนลดฮวบ หลังปรับโครงสร้างองค์กร พร้อมขยายสนามบิน “ตราด” รองรับนักท่องเที่ยวจีน เริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ ส่วนสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตอกเสาเข็มต้นปี 67 ด้าน “บล.ฟินันเซีย” แนะซื้อเคาะราคาเป้าหมาย สูงสุด 20 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ก.ค.66) ราคาหุ้นบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ล่าสุด ณ เวลา 10:54 น. อยู่ที่ระดับ 15.20 บาท บวก 0.40 บาท หรือ 2.70% สูงสุดที่ระดับ 15.20 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 14.80 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 31.19 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ถึงแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2566 (เม.ย.-มิ.ย. 2566) ว่า จากการประเมินภาพรวมขณะนี้ เชื่อว่าผลประกอบการจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ และเชื่อว่า BA จะมีกำไรเพิ่มขึ้นทุกไตรมาสในปี 2566 โดยไตรมาส 1/2566 BA มีกำไรสุทธิ 875.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 185.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1,020 ล้านบาท มีรายได้รวม 5,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 238.2%

ขณะที่ ผลประกอบการทั้งปี 2566 BA คงเป้าขนส่งผู้โดยสารที่ 4.4 ล้านคน มีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่จะมีกำไรสูงกว่าปี 2562 ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ BA มีการขนส่งผู้โดยสาร 5.8 ล้านคน มีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร 1.9 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 356.7 ล้านบาท แม้จำนวนผู้โดยสารและรายได้จะยังไม่กลับไปเทียบเท่ากับปี 2562

เนื่องจากในปี 2566 มีปัจจัยหนุนจากการที่ BA ปรับโครงสร้างบริษัท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริหารต้นทุนได้ดีขึ้น อีกทั้งปัจจุบัน BA ใช้เครื่องบินแค่ 20 ลำ ขณะที่ปี 2562 ใช้เครื่องบิน 40 ลำ ทำให้ต้นทุนในปีนี้ต่ำมากหากเทียบกับปี 2562

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่นักท่องเที่ยวฟื้นตัวดีต่อเนื่อง มีความต้องการเดินทางทางอากาศสูง ขณะที่สายการบินยังมีความสามารถจำกัดในการให้บริการ เพราะเจอผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ทำให้ราคาตั๋วโดยสารสูงขึ้นตามหลักกลไกตลาด โดยในช่วงไตรมาส 3/2566 (ก.ค.-ก.ย. 2566) มียอดจองล่วงหน้า (Booking) สูงถึง 30-40% แล้ว แต่ BA ยังคงดำเนินธุรกิจแบบระมัดระวัง เพราะสถานการณ์อาจผันผวนได้ตลอดเวลา เช่น โควิดอาจกลับมาแพร่ระบาดใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม 2566 BA จะกลับไปเปิดให้บริการเส้นทางบินเดิมอีก 3 เส้นทางหลังจากที่หยุดให้บริการไปช่วงสถานการณ์โควิด คือ1. สมุย-ฮ่องกง ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้โดยสารทั้งชาวจีนและยุโรป, 2. สมุย-เฉิงตู และ3. สมุย-ฉงชิ่ง

โดยเส้นทางเฉิงตูและฉงชิ่งยังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติตารางการบินจากทางการจีน คาดว่าอาจจะเปิดบริการได้หลังจากเดือนกรกฎาคมเล็กน้อย ขณะที่ช่วงที่เปิดบริการเส้นทางเฉิงตูและฉงชิ่ง ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด มีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load factor) เฉลี่ย 80% ซึ่งคาดว่าการกลับมาเปิดบริการอีกครั้งในรอบนี้ก็จะได้รับความนิยมเช่นเดิม โดยปัจจุบันผู้โดยสารชาวจีนมีสัดส่วนที่ 8-10% ของผู้โดยสารทั้งหมดของ BA

นอกจากนี้ BA ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสนามบินที่เป็นเจ้าของทั้ง 3 แห่ง คือ สนามบินสมุย, ตราด และสุโขทัย โดยเฉพาะสนามบินตราดที่ก่อนหน้านี้มีสายการบินจีนติดต่อต้องการใช้บริการเข้ามามาก แต่ BA ไม่สามารถรองรับได้ เนื่องจากทางวิ่ง (รันเวย์) ปัจจุบันสามารถรองรับเครื่องแบบใบพัด ATR-72 ความจุผู้โดยสาร 74 ที่นั่งเท่านั้น ไม่สามารถรับเครื่องบินที่ขนาดใหญ่กว่านั้นได้ ดังนั้น BA จึงมีแผนขยายรันเวย์สนามบินตราด วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้รองรับเครื่องบินแอร์บัส A320 ความจุประมาณ 168 ที่นั่งได้ โดยจะเริ่มการก่อสร้างปลายปีนี้ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี แล้วเสร็จ

ส่วนสนามบินสมุยนั้น ปัจจุบันมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมแล้ว และคงไม่สามารถขยายสิ่งใดได้เพิ่มเติม เพราะข้อจำกัดของพื้นที่ ดังนั้น BA ก็จะเพิ่มในส่วนสิ่งบริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร รวมถึงสนามบินสุโขทัยที่เป็นศูนย์ฝึกการบินด้วย ก็จะมีการพิจารณาเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นกัน

ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีอยู่ 3 ธุรกิจ คือ ธุรกิจครัวการบิน บริการภาคพื้น และธุรกิจอาคารคลังสินค้าระหว่างประเทศ โดยทั้งหมดจะหมดสัญญาในปี 2569 นั้น ขณะนี้ BA อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่าจะใช้วิธีการใด เช่น เปิดประกวดราคาใหม่ หรือต่อสัญญากับผู้ประกอบการรายเดิม เพราะในสัญญาเดิมระบุว่าจะต้องมีการแจ้งหรือเจรจาล่วงหน้าก่อนหมดสัญญา 5 ปี แต่ขณะนี้ BA ยังไม่ได้รับการติดต่อมา แต่ BA ไม่มีความกังวลหากใช้วิธีเปิดประกวดราคาใหม่ เพราะมั่นใจว่ามีประสบการณ์ มีศักยภาพ และมีความคุ้นเคยกับสภาพสนามบิน เพราะเป็นผู้ให้บริการมาเกือบ 20 ปี นับแต่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดบริการแล้ว ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกว่าคู่แข่ง

สำหรับกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT จะเปิดประกวดราคาหาผู้ประกอบการายที่ 3 มารับงานบริการภาคพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และ BA นั้น BA ก็มิได้กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ เพราะปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิยังขาดแคลนผู้ให้บริการภาคพื้น เนื่องจากผู้โดยสารฟื้นตัวเร็วมาก ขณะที่ลูกค้ารายเดิมของ BA ก็ยังคงเลือกใช้บริการ BA อยู่ และมีลูกค้ารายใหม่เข้ามาเพิ่มเติมด้วย โดยงานบริการภาคพื้นปัจจุบัน BA มีลูกค้า 77 ราย ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 5 ราย

นายพุฒิพงศ์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ล่าสุดคือที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ได้รับทราบผลการเจรจาปรับแก้สัญญาโครงการฯ ระหว่าง UTA ซึ่งเป็นคู่สัญญาร่วมทุน (PPP Net Cost) กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เช่น การปรับเฟสการลงทุนจากเดิม 4 เฟส เป็น 6 เฟส เพื่อให้สอดคล้องกับคาดการณ์ผู้โดยสารหลังเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่รวมแล้วยังสามารถรองรับผู้โดยสารได้ที่ 60 ล้านคนต่อปีเช่นเดิม การปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ของเอกชนคู่สัญญา เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ต้องรอทางสกพอ.ว่าจะมีการจัดทำรายละเอียดที่แก้ไขอย่างไร แต่เชื่อว่าไม่ต้องแก้สัญญาแล้วลงนามใหม่ เพราะสาระสำคัญหลักของสัญญายังเป็นเช่นเดิม

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ล่าสุดขณะนี้ BA ประเมินว่าฝ่ายรัฐน่าจะสามารถออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ได้ประมาณต้นปี 2567 จากเดิมที่ประเมินว่าจะสามารถออก NTP ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2566 เนื่องจากโครงการฯ ยังมีงานอื่นที่เกี่ยวพันกันและต้องรอตามขั้นตอน เช่น การประกวดราคางานก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งกองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบและอยู่ระหว่างประกวดราคา โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่เพิ่งแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม แม้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะก่อสร้างล่าช้า แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เพราะการให้บริการที่สนามบินอู่ตะเภามิได้รอแค่ผู้โดยสารที่เดินทางมากับขบวนรถไฟความเร็วสูงเท่านั้น เพียงแต่เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จะช่วยขนส่งผู้โดยสารสู่สนามบินอู่ตะเภา และเพิ่มความสะดวกแก่ผู้โดยสารในการเดินทางเชื่อมทั้ง 3 สนามบิน (ดอนมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ส่วนสนามบินอู่ตะเภาที่ UTA รับผิดชอบ เมื่อเปิดให้บริการแล้วก็จะต้องมีการสร้างเครือข่ายเส้นทางการบินใหม่และสร้างผู้โดยสารใหม่ด้วยตัวเอง

สำหรับการลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เฟสที่ 1 มีวงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยแต่ละรายจะลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นใน UTA ซึ่ง BA อยู่ที่ 45% โดยการเพิ่มทุน UTA ล่าสุดจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท ซึ่ง BA ต้องใส่เงินเพิ่มทุนอีกประมาณ 4,725 ล้านบาทนั้น ก็เป็นการเตรียมการไว้เพื่อการเริ่มงานเฟสที่ 1 ดังกล่าว โดย BA จะใช้เงินจากเงินทุนของ BA บางส่วน และกู้จากสถาบันการเงินบางส่วน ซึ่งยืนยันว่า BA มีความพร้อมต่อการลงทุนแน่นอน โดยปัจจุบัน BA มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 2.46 เท่า และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหลายสถาบันการเงิน

กล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ว่า BA มีแผนนำบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากที่การก่อสร้าง เฟสที่ 1 (รองรับที่ 12 ล้านคนต่อปี) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้รับงานโครงการฯ สามารถนำ UTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ เพราะเงื่อนไขในเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ระบุว่าสามารถกระทำได้ เพื่อให้ UTA ได้ระดมทุน และเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น จากการรับงานสัมปทาน 50 ปี

อย่างไรก็ตาม การนำ UTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัย์ฯ ยังมีปัจจัยหลายประการที่ต้องพิจารณา และต้องมีการหารือกันระหว่างผู้ร่วมทุน คือ BA ถือหุ้น 45% บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถือหุ้น 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้น 20% ให้มีความชัดเจนร่วมกันก่อนว่าควรนำ UTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีจากนี้

บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ปรับเพิ่มราคาเป้าหมาย BA เป็น 20 จาก 18 บาท (SoTP) เพื่อสะท้อนแนวโน้มธุรกิจสายการบินที่ดีขึ้น BA มีการซื้อขายในระดับการประเมินมูลค่าที่ต่ำเพียง 17 เท่า ของค่า P/E เชื่อว่าหุ้นมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้จากส่วนประกอบของ BDMS และสนามบินสมุยที่มีการประเมินมูลค่าในระดับสูง

พร้อมปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติปี 2566 ขึ้น 49% เป็น 1.4 พันล้านบาท เพื่อสะท้อนเป้าประมาณการของผู้บริหารล่าสุดที่คาด Load Factor ในอัตราที่สูงขึ้นเป็น 76-77% (จาก 73%) และค่าบัตรโดยสารเฉลี่ยที่ 3,500 บาท (จาก 3,400 บาท) บริษัทคงสมมติฐานปริมาณผู้โดยสารไว้ที่ 4.4 ล้านคน คิดเป็น 75% ของระดับก่อนโควิด pent-up demand ที่สูงเกินคาดของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10-15% ของรายได้ในปี 2562

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) แนะนำ “ซื้อ” หุ้น BA ราคาเป้าหมาย 16.90 บาท โดยมีปัจจัยบวกจากกรณีที่ครม.รับทราบผลการเจรจาปรับแก้สัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เพราะจะช่วยผ่อนคลายเงื่อนไขต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากขึ้น โดย BA ยังคงเป็นหุ้น Top pick กลุ่มการบิน จากปัจจัยบวกที่ผลประกอบการไตรมาส 1/2566 ฟื้นเป็นกำไรปกติเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี และมีแนวโน้มว่าผลประกอบการไตรมาส 2/2566 จะมีกำไรต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในระยะกลาง (3-6 เดือนนี้) อาจมีความเสี่ยงจากการแข่งขันธุรกิจการบินที่กลับมารุนแรง ซึ่งจะกระทบราคาตั๋วโดยสารได้ โดยบล.กรุงศรีฯ ประเมินว่าในปี 2566 BA จะมีรายได้ประมาณ 19,604 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,456 ล้านบาท สูงกว่าปี 2565 ที่มีรายได้ 11,305 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 2,110.2 ล้านบาท

จากข้อมูล Consensus 6 โบรกเกอร์ ประเมินหุ้น BA ปี 2566 กำไรสุทธิ 1,381.02 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 16.88 บาท ขณะที่ราคาสูงสุดอยู่ที่ 20 บาท

Back to top button