พาราสาวะถี
ท่วงทำนองทางการเมืองที่มองกันว่าถ้าต้องการจะปิดสวิตช์ ส.ว. ดึงภูมิใจไทยที่มี ส.ส.อยู่ 71 เสียงเข้าร่วมก็จบ ซึ่งทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติเป็นไปได้ยากเป็นอย่างยิ่ง
ไม่ว่าจะมีการอ่านสัญญาณผลโหวตเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ซึ่ง ปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกลเข้าป้ายด้วยคะแนน 312 เสียง เหนือ วิทยา แก้วภราดัย ของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ได้ 105 คะแนน ไปในทิศทางใดก็ตาม สำหรับฝ่ายประชาธิปไตยก็เชื่อมั่นได้ว่าการจับมือกันตั้งรัฐบาลมีความเป็นเอกภาพและพร้อมที่จะเดินหน้าโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยไม่สนใจว่าเบื้องหน้าจะต้องเผชิญกับอะไร
จากที่เคยมองว่าแรงกดดันจะถาโถมฝ่ายที่ร่วมกันตั้งรัฐบาล เพราะยังขาด 64 เสียงในที่ประชุมรัฐสภา จะไปหามาจากไหน หลังคำประกาศของพิธาที่ว่ารุกได้ถอยเป็น มันจึงกลายเป็นภาพสะท้อนมุมกลับแรงเสียดทานทั้งหลายไปตกอยู่กับ ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง ซึ่งได้จำแนกแยกแยะให้เห็นแล้วว่า แต่ละพวกมีที่มาที่ไปอย่างไร จากที่เคยมองว่าอยู่ภายใต้อาณัติของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ สั่งซ้ายหันขวาหันได้ มาถึงนาทีนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว
เห็นถึงความระส่ำต่อการเรียกร้องให้พิธาและพรรคก้าวไกลลดเพดานเรื่องแก้มาตรา 112 แลกกับการให้ ส.ว.ได้ทบทวนท่าทีในการจะโหวตหนุนให้เป็นนายกฯ มันทำให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในพวกเดียวกันเองว่าจะเดินกันอย่างมีเอกภาพเหมือนเมื่อคราวโหวตเลือกผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้งปี 2562 เพราะรู้กันดีว่าเวลานี้ไม่มีใครคุม ส.ว.ได้อีกแล้ว มิหนำซ้ำ ยังมีข่าวตามมาว่าจะมีการซื้อตัว ส.ว.เพื่อให้ยกมือหนุนพิธา จนบางรายร้อนตัวต้องออกมาแก้ต่างเรียกร้องถ้ามีจริงให้แสดงหลักฐานออกมา
นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากว่าที่นายกฯ คนที่ 30 แสดงตัวว่ารุกได้ถอยเป็น อาการอยู่ไม่เป็นสุขของพวกสุดโต่ง เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่าขบวนการสืบทอดอำนาจ พวกอยากอยู่ยาว พยายามดิ้นกันอย่างหนักเพื่อที่จะปกป้องตัวเองหากถูกสังคมตราหน้าว่าขวางความเจริญของประเทศ สกัดกั้นกระบวนการคืนสู่ประชาธิปไตยที่คนไทยและต่างชาติยอมรับ ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวหนาหูว่าการรุกได้ถอยเป็นของพิธาอาจจะหมายถึงไม่ต้องง้อเสียง ส.ว.เลยก็ได้
ท่วงทำนองทางการเมืองที่มองกันว่าถ้าต้องการจะปิดสวิตช์ ส.ว. ดึงภูมิใจไทยที่มี ส.ส.อยู่ 71 เสียงเข้าร่วมก็จบ ซึ่งทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติเป็นไปได้ยากเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทัศนคติ มุมมอง และนโยบายทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มีการปะทะกันตลอดเวลาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นั่นคือการเมือง อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรคจริงอยู่ คำพูดหรือการประกาศเรื่องใด ๆ จึงน่าจะมีน้ำหนักมากพอ แต่ต้องอย่าลืมว่าพรรคนี้มีที่ปรึกษาระดับอาจารย์ใหญ่ที่ทุกคนให้ความนับถือและพร้อมทำตาม
จึงทำให้คิดและมองย้อนกลับไปที่ข่าวซึ่งปรากฏก่อนหน้าก้าวไกลเจรจา เนวิน ชิดชอบ ที่ภายหลังมีการยืนยันว่าไม่เป็นความจริง นี่ก็คือคำปฏิเสธทางการเมืองที่โดยทฤษฎีให้ถือว่าเชื่อได้แค่ครึ่งเดียว ยกเอาตัวอย่างอันใกล้ กรณีการเสนอชื่อวันนอร์เป็นประธานสภาฯ ทั้งเจ้าตัวและพรรคก้าวไกลต่างสงวนท่าทีอ้างว่ายังไม่มีการทาบทามหรือพูดคุยอะไรกัน แต่ภายหลังก็มีการบอกว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กระซิบข้างหูหัวหน้าพรรคประชาชาติตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคมที่ 8 พรรคร่วมแถลงข่าวแล้ว
โดยบอกว่าจะเสนอชื่อวันนอร์เป็นประธานสภาฯ เพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงตัวระหว่างสองพรรค ขณะที่ก้าวไกลหลังจากได้รับสัญญาณจากเพื่อไทยก็มีการไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับว่าที่ประธานสภาฯ ถึงบ้านพักในช่วงกลางคืนก่อนโหวตหารือกันจนถึงดึก นี่คือสัจธรรมทางการเมืองที่ว่า อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็นและได้ยินได้ฟัง เพราะมันอาจเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียวหรือเรื่องเท็จทั้งหมดได้ แต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อะไรที่เป็นประเด็นเล็ดลอดมาปรากฏเป็นข่าว จะมีมูลอยู่ไม่มากก็น้อย
กรณีภูมิใจไทยกับการเสียบร่วมรัฐบาล คำอธิบายอย่างแรกที่จะได้ยินจากปากของพิธาและพรรคก้าวไกลก็คือ เป็นการปิดสวิตช์ ส.ว.แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงจำเป็นต้องดึงมาร่วม ส่วนอีกด้านที่สำคัญถึงขนาดที่จะยอมถูกฝ่ายประชาธิปไตยก่นด่า คงเป็นเหตุผลเรื่องการคานอำนาจ และแรงกดดันจากการต่อรองของพรรคอันดับ 2 เพราะหากมี 71 เสียงเข้ามา โควตาที่เคยคุยกันไว้กับสูตร 14+1 ก็ต้องเปลี่ยนไป การผนึกกำลังของสองขั้วย่อมลดทอนพลานุภาพในการคุมเกมของเพื่อไทยไปโดยปริยาย แต่สูตรนี้พิธาและก้าวไกลต้องชั่งตวงวัดกันให้สะเด็ดน้ำได้คุ้มเสียหรือไม่
ส่วนที่มองกันก่อนหน้าถ้าเทียบความเป็นไปได้ระหว่างภูมิใจไทยกับพลังประชารัฐ ผลจากการโหวตเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำให้ฝ่ายตั้งรัฐบาลไม่แน่ใจต่อท่าทีของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ที่ยังมีเยื่อใยและห่วงหาอาทรกับน้องเล็กอยู่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าในการโหวตเลือกนายกฯ ฝ่ายตรงข้ามย่อมจะเสนอชื่อคนชิงตำแหน่ง อาจจะเป็นผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหรือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่มีเสียงวิจารณ์ว่ายอมสละเก้าอี้ ส.ส.เพื่อหวังตำแหน่งที่ใหญ่กว่า
อาจมองเป็นเรื่องธรรมดาที่ฝ่ายแพ้เลือกตั้งจะเสนอชื่อคนแข่งกับพรรคเสียงข้างมาก แต่ต้องไม่ลืมว่า การโหวตเลือกนายกฯ ใช้เสียงของที่ประชุมรัฐสภา ไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จะถือเป็นบททดสอบไปในตัวของขบวนการสืบทอดอำนาจว่า ส.ว.ที่เซ็นแต่งตั้งมากับมือยังสำนึกในบุญคุณกันอยู่หรือไม่ ซึ่งแนวโน้มจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่มันบ่งชี้ว่าไม่เป็นไปตามนั้น ขณะเดียวกันภูมิใจไทยก็ไม่น่าจะเล่นด้วยถ้าเชื่อฟังอาจารย์ใหญ่ เช่นเดียวกับพรรคสืบทอดอำนาจแม้พี่ใหญ่อยากจะร่วมวงไพบูลย์ด้วย แต่ลูกพรรคส่วนใหญ่พากันร้องยี้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกันเกือบหมดพรรค
หากพิจารณาจากไทม์ไลน์ในกระบวนการรับรอง ส.ส. จนมาถึงการเลือกประธานสภาฯ ต้องบอกว่าผิดแผนและไม่เป็นไปตามที่ขบวนการสืบทอดอำนาจเคยคิดไว้ นั่นเท่ากับว่า โอกาสพลิกเกมแทบจะเป็นศูนย์ไปแล้ว ขณะที่วันนอร์ที่รอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก็ฟิตจัดนัดประชุมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเล็งวันโหวตเลือกนายกฯ ไว้แล้วที่ 13 กรกฎาคม เก้าโมงครึ่ง ไม่ว่าพิธาจะได้รับเสียงโหวตเกินครึ่งหรือไม่ บทบาทของประธานรัฐสภาก็คือ ต้องนัดประชุมและโหวตกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ตัวนายกฯ ไม่ว่าจะพลิกคว่ำพลิกหงายใช้สูตรใดก็ตาม สูตรนั้นจะไม่มีคนอยากอยู่ยาวแน่นอน