APM ชี้ปีทอง “ไอพีโอ” บจ.ตบเท้ายื่น “ไฟลิ่ง” สูงประวัติการณ์

“สมศักดิ์” เผยครึ่งปีแรกบจ.ยื่นไฟลิ่งกว่า 50 บริษัท แต่ยังมองว่าตลาดไอพีโอยังไม่คึกคักจากปัจจัยกดดันหลายอย่าง พร้อมแนะ 3 ทริคเลือกลงทุน


นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเสท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 66 ว่า นับตั้งแต่ปี 65-66 บรรยากาศการลงทุนไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากมีปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ, การเมือง และต่างประเทศเป็นตัวกดดัน

อีกทั้งในช่วงต้นปี 67 จะมีเกณฑ์บังคับใช้ในการรับหุ้น IPO โดยเฉพาะกับการจัดทำงบประมาณชุดใหญ่ หรือ PAE 3 ปีก่อนที่จะยื่นไฟลิ่ง (Filing) ซึ่งปกติใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น ซึ่งหลาย ๆ บริษัทได้มีการจัดเตรียมระบบบัญชีและระบบการจัดการก่อนที่จะเข้าสู่ตลาด พร้อมคาดว่าปีนี้น่าจะมีจำนวนการยื่นไฟลิ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีการยื่นไฟลิ่งเกือบ 50 บริษัท ซึ่งหากมองในมุมมองของตลาด IPO คือมีซัพพลายเยอะ ด้านฝั่งดีมานด์ก็จะเริ่มกังวลในการลงทุน เนื่องจากเหตุการณ์ที่มีตัวกดดันตลาดส่งผลให้ทำลายความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนเช่นกัน

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 66 จะเป็นในเรื่องของหุ้น IPO ที่มีการยื่นเข้ามาในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากบริษัทฯ ส่วนใหญ่จะมีการปิดงบประมาณอยู่ที่ช่วงเดือนก.พ. และยื่นไฟลิ่งกันช่วงเม.ย.-พ.ค. หลังจากนั้นจึงจะสามารถขายหุ้นได้ในช่วงเดือนก.ย.-พ.ย. เพราะฉะนั้นจึงมีการยื่นไฟลิ่งตั้งแต่ต้นปี

โดยคิดว่าตลาดหุ้น IPO จะยังไม่คึกคักเพราะเป็นไปได้ยาก แต่มองว่าเป็นโอกาสของกิจการที่มีพื้นฐานที่ดี กิจการมีการกำหนดราคาที่เหมาะสม และมีกระบวนการในการกระจายหุ้นที่ดีด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า IPO คือหุ้น initial public offering หรือ การระดมทุนในครั้งแรก แต่กลับกันในตอนนี้ หุ้น IPO คือการลงทุนครั้งแรกและครั้งเดียว ซึ่งมองว่าเป็นตัวบั่นทอนที่ทำให้หุ้น IPO ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดฯ นั้นไม่ได้รับความสนใจ โดยอยากให้มองว่าผู้ที่ซื้อหุ้น IPO คือผู้ที่ได้รับส่วนลดราคาอย่างยุติธรรม เช่น ลด 10-15% หลังจากนั้นผลประกอบการก็จะดำเนินการได้ตามที่นักลงทุนได้คาดหวังไว้ หากมองเช่นนี้ ผู้ลงทุนหุ้น IPO ก็จะไม่ได้ขายหุ้นในวันแรก และอาจจะตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มด้วย ซึ่งจะส่งผลให้กลไกทางตลาดมีการเกื้อหนุนกัน

แต่ถ้าเป็นในลักษณะของหุ้น IPO ที่ตีหัวเข้าบ้าน กล่าวคือ มีการกำหนดราคาหุ้นและมีผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มีไม่กี่กลุ่ม ก็จะบั่นทอนทำให้ผู้ที่มีเจตนาดีในการลงทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ เพื่อให้กิจการยั่งยืนก็จะทำได้ยากขึ้น เพราะมีกฎเกณฑ์มาป้องกัน

ขณะเดียวกัน สัญญาณการชะลอตัวของหุ้น IPO มีความชัดเจนให้เห็นอยู่แล้ว หากดูในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คิดว่ามีบริษัทฯ ที่กลต.อนุญาตให้ผ่านไม่ต่ำกว่า 10 บริษัทฯ ที่พร้อมขายหุ้นได้เลยแต่ยังไม่ได้ขาย เพราะรอจังหวะที่เหมาะสมอยู่ แต่ก็มีเรื่องที่ผลประกอบการของบริษัทฯ ที่ผ่านไฟลิ่งนั้นไม่เป็นไปตามอย่างที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ตลาดฯ อยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำมานานและมีของเรื่องอัตราเงินเฟ้อด้วย ซึ่ง 2 เรื่องมาควบคู่กัน โดยรอบนี้ต้นทุนกดดันให้เงินเฟ้อขึ้น ไม่ได้เกิดจาก demand ที่เยอะขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าภาพรวมส่วนใหญ่ของตลาดต้องดีก่อน ทั้งในส่วนของเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและระดับประเทศ ด้านตลาดโลกมีเรื่องของความผันผวนและไม่แน่นอนสูง เพราะในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเยอะ และส่งผลให้ตลาดไทยในด้านท่องเที่ยวที่เราเคยคาดหวังว่าจะกลับมาดีหลังจากช่วง COVID-19 ในความจริงก็ยังไม่สามารถกลับมาทำให้ดีเท่าเดิมได้ โดยแนะนำว่าหุ้น IPO ต้องมี 3 อย่าง ได้แก่ ตัวธุรกิจ, กำหนดราคาที่เหมาะสม และการกระจายหุ้นและจัดสรรหุ้น

Back to top button