พาราสาวะถี

แม้จะยืนยันจากปากของ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.แล้วว่ายังไม่มีการพิจารณาเคาะส่งเรื่อง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส.


แม้จะยืนยันจากปากของ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.แล้วว่ายังไม่มีการพิจารณาเคาะส่งเรื่อง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส.กรณีถือหุ้นไอทีวีให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 หลังจากเกิดกระแสข่าวว่าจะลงมติกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ที่น่าสนใจคือ กกต.มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อเนื่องตั้งแต่วันจันทร์จนถึงวันนี้ (12 กรกฎาคม) จากที่เคยประชุมกันแค่วันจันทร์และอังคาร นาทีนี้ขยันกันเป็นพิเศษจนผิดสังเกต

หากมีมติที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีของพิธา ก็เท่ากับว่าเป็นการเปิดทางที่จะให้ ส.ว.ลากตั้งใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะไม่โหวตให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้ อย่างไรก็ตาม เสียงขู่ที่เซ็งแซ่เวลานี้ก็ล้วนแต่เป็นพวก ส.ว.หน้าเดิม ไม่ต่างกันกับคุณแหล่งข่าวที่อ้างว่า ส.ว.จะพากันงดออกเสียงไม่ยกมือหนุนพิธาถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อีกด้านมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่าเหตุที่ปรากฏข่าวในทำนองอาจเป็นที่พวกสืบทอดอำนาจมองเห็นแล้วว่าพวกลากตั้งสั่งกันไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว

จึงเกิดขบวนการข่มขู่สารพัด ทั้งขู่ริบเครื่องราชฯ ถอดยศ สุดแท้แต่จะนึกกันขึ้นมาได้ อาการดิ้นกันขนาดนี้มันจึงเป็นสัญญาณชี้ให้เห็น ส.ว.ที่ถูกมองเป็นของตายถูกเผด็จการสืบทอดอำนาจสนตะพายสั่งซ้ายหันขวาหันมาตลอด เริ่มพยศเลี้ยงไม่เชื่อง จึงต้องกระตุกเชือกแรง ๆ ฟาดด้วยแส้เพื่อให้กลับมาเชื่อฟังเหมือนเดิม ซึ่งมันก็มีอยู่สองทางคือ ยอมศิโรราบเหมือนเดิม หรือแสดงการขัดขืนด้วยการไล่ขวิดคนหรือพวกที่ข่มขู่กันชนิดไม่ไว้หน้า ไม่ให้เกียรติกันแม้แต่น้อย

ฟากของก้าวไกลที่การันตีกับ 7 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลว่าประสานขอเสียง ส.ว.ได้มากพอที่จะส่งพิธาเป็นนายกฯ ได้ แต่ดูเหมือนว่าพวกที่ร่วมเซ็นเอ็มโอยูด้วยจะไม่เชื่อในสิ่งที่พูด ประกอบกับเห็นการเคลื่อนไหวพบประชาชนที่อ้างว่าเป็นการขอบคุณเสียงที่เลือกพรรคจนชนะการเลือกตั้ง ความถี่ของการลงพื้นที่นั้นมันเป็นเหมือนตัวบ่งชี้ว่า การเจรจาขอเสียงสนับสนุนนั้นไม่เป็นไปตามเป้า จึงต้องหันมาหามวลชนเพื่อให้แสดงพลังกดดันพวกลากตั้งให้เห็นความสำคัญของ 27 ล้านเสียงที่มีฉันทามติให้ตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยด้วย 

วิธีม็อบกดดันคงไม่ได้ผล และอาจจะส่งผลเสียด้วยซ้ำไป ต้องไม่ลืมว่าอีกฝ่ายก็เตรียมที่จะขนคนมาเพื่อเรียกร้องไม่ให้ ส.ว.โหวตหนุนพิธาเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นข้ออ้างของบางพรรคการเมืองที่จะไม่โหวตให้พิธา รวมไปถึง ส.ว.จำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงไม่ประมาท มีการเตรียมกำลังไว้รับมือกันอย่างแน่นหนา ทั้งตำรวจที่มอบหมายให้ทั้ง 9 กองบังคับการตำรวจนครบาล จัดวางกำลังดูแลทุกพื้นที่ไม่ให้คลาดสายตา

ขณะที่ฝ่ายกองทัพก็มีการเตรียมกำลังทหารไว้ในที่ตั้ง เผื่อเหตุฉุกเฉินจะได้เป็นกำลังเสริมช่วยเหลือตำรวจได้ การประเมินสถานการณ์เช่นนี้ย่อมหมายถึง กระบวนการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก 13 กรกฎาคมนี้ ไม่น่าจะเรียบร้อยและได้ข้อยุติ ถึงขนาดที่ว่าบางสายข่าวรายงานถึงผู้บังคับบัญชาบางกลุ่มเคลื่อนไหวเตรียมที่จะใช้ความรุนแรง หากเป็นแค่การข่าวและให้ข่าวเพื่อดักทางพวกฮาร์ดคอร์นั่นก็ไม่น่าห่วง แต่ถ้าจะมีเหตุการณ์เช่นนั้นจริงก็ต้องดูให้ชัดว่าเป็นฝีมือของพวกไหนกันแน่

ความพยายามที่จะพลิกเกมของพวกอยู่ยาวไม่ได้หมดไป การยืนยันไม่ส่งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งก็คือ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ กับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศกับพิธานั้น มันก็แค่ละครฉากหนึ่ง เพราะตามที่คุณแหล่งข่าวของพวกลากตั้งปล่อยข่าวออกมาก็คือ หาก 13 กรกฎาคมนี้พิธาได้รับเสียงโหวตไม่ถึง 376 เสียง แล้วต้องมีการโหวตใหม่จะมีการเสนอชื่อคนของบางพรรคการเมืองมาเป็นคู่แข่ง

มิหนำซ้ำ ยังวางกล้ามข่มขู่ด้วยว่าถ้าจะนัดโหวตใหม่อีกครั้งคือ 19 กรกฎาคม จะต้องไม่ชงชื่อพิธาให้ที่ประชุมพิจารณาอีก โดยอ้างข้อบังคับการประชุม ญัตติใดที่เสนอที่ประชุมรัฐสภา หากไม่ได้รับความเห็นชอบถือว่าตกไป และห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ไม่ใช่แค่ขู่ ส.ส.ฝ่ายตั้งรัฐบาล ยังรวมไปถึงการขู่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาด้วย

แสดงอำนาจบาตรใหญ่กันเต็มที่ แต่คงลืมไปว่าสิ่งที่พิจารณากันนั้นไม่ใช่ญัตติโดยทั่วไป แต่เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และไม่ได้มีข้อห้ามไว้ว่าไม่ให้เสนอชื่อคนที่ไม่ผ่านการโหวตในครั้งแรกให้ที่ประชุมพิจารณาอีก และไม่ได้ระบุด้วยว่าจะต้องโหวตกันกี่รอบ แค่ยกเอาข้อบังคับการประชุมมาขู่กับสิ่งที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมันก็ไม่น่าจะถูกต้องแล้ว นั่นจึงทำให้เห็นอาการปากกล้าขาสั่นของทั้งหัวขบวนสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อจอมเชลียร์ทั้งหลาย

จากสถานการณ์เช่นนี้ มันจึงทำให้โอกาสสำหรับพรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมเซ็นเอ็มโอยูด้วยนั้นเปิดกว้างมากขึ้น อยู่ที่ว่าก้าวไกลจะยอมลดเพดานของตัวเองที่จะไม่ยอมจับมือกับพรรคที่เคยสนับสนุนเผด็จการสืบทอดอำนาจลงหรือไม่ หากพร้อมที่จะทำและอธิบายให้กับด้อมส้มได้เข้าใจถึงความจำเป็น ก็จะพบกับทางออกที่ไม่ต้องไปพึ่งพาพวกลากตั้ง ส่วนพวกเสี้ยมที่จะให้เพื่อไทยทิ้งก้าวไกลแล้วเปลี่ยนขั้วเลิกหวังกันไปได้เลย เพราะคงไม่มีใครจะทำลายอนาคตที่จะกลับมายิ่งใหญ่ของพรรคตัวเอง

เวลานี้กระบวนการเจรจาจึงมีทั้งขอเสียง ส.ว.เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมี 64 เสียงโหวตพิธา คู่ขนานไปกับการตั้งโต๊ะคุยพรรคการเมืองนอกเอ็มโอยู เมื่อพรรคขั้วรัฐบาลเดิมอย่างภูมิใจไทยย้ำหนักแน่นไม่หนุนและไม่ร่วมรัฐบาลเสียงข้างน้อย ขณะที่พรรคสืบทอดอำนาจแกนนำส่วนใหญ่ก็ยืนยันกับพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.จะไม่แบกเสลี่ยงให้ท่านขุนนั่งอีกแล้ว มันจึงทำให้เชื่อได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นการปิดสวิตช์ ส.ว.ด้วยน้ำมือนักการเมือง แล้วส่งให้ขบวนการสืบทอดอำนาจกลับไปสู่ที่ชอบของใครของมัน

Back to top button