TU เตรียมยกเลิกการว่าจ้างล้ง จ่อนำเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลเอง
TU เผยตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.58 จะยกเลิกการว่าจ้างสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) จากภายนอกทั้งหมด และนำกระบวนการผลิตทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของบริษัท เพื่อควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านแรงงานได้อย่างเข้มงวด-ถูกต้องตามกฎหมาย
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ทางบริษัทจะยกเลิกการว่าจ้างสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) จากภายนอกทั้งหมด และนำกระบวนการผลิตทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของไทยยูเนี่ยนฯ เพื่อบริษัทจะสามารถควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านแรงงานได้อย่างเข้มงวด และถูกต้องตามกฎหมาย
โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 กระบวนการผลิตทั้งหมดจะได้รับการควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนในสายการผลิต ทั้งแรงงานไทยหรือต่างด้าว จะปฏิบัติงานในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นธรรม
ทั้งนี้การที่บริษัทได้ตัดสินใจดำเนินการเช่นนี้ สืบเนื่องจากการทบทวนตรวจสอบคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานของทียู และการริเริ่มใช้จรรยาบรรณธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านแรงงานฉบับใหม่ (Business Ethics and Labour Code of Conduct) ของทียูที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบว่า เป็นการยากที่จะทำให้มั่นใจว่า ล้งอิสระเบื้องต้นจะปฏิบัติตามแนวปฏิบัติด้านแรงงานฉบับใหม่ได้อย่างครบถ้วนและเคร่งครัด ทั้งนี้ บริษัทยินดีจะให้โอกาสรับพนักงานกว่า 1,000 อัตรามาทำงานกับทียู
ด้านนายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจกุ้ง TU เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทียูมีเงื่อนไขให้สถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำอิสระปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดและมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ (Audit) ยอมรับว่า บางครั้งยังมีการตรวจพบแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองมาไม่ถูกต้อง ถือเป็นความเสี่ยง จึงถึงเวลาต้องเลิกจ้าง ซึ่งหวังว่าลูกค้าจะสนับสนุนการดำเนินนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่บริษัทอื่นจะดำเนินการลักษณะเดียวกัน
ด้านดร.ผณิศวร ชำนาญเวช ประธานกิตติคุณของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า การปรับนโยบายครั้งนี้ของไทยยูเนี่ยนฯ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการบริหารจัดการอุตสาหกรรมนี้ ทั้งนี้ กระบวนการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นทั้งหมดของสมาชิกสมาคม รวมทั้งของไทยยูเนี่ยนฯ จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสมาคมทุกรายไป
แหล่งข่าวจากสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) จ.สมุทรสาคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจล้งได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่ตำรวจเข้าตรวจจับกวาดล้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดทุกวัน จากปี 2557 มีผู้ประกอบการล้งอยู่ประมาณ 300 ราย ปัจจุบันเหลือผู้ประกอบการล้งกุ้งเพียง 28 ราย และเมื่อนโยบายของทียูที่จะเลิกจ้างล้งอิสระมีผลปลายปีนี้จะมีล้งหายไปอีกส่วนหนึ่ง โดยล้ง 1 รายจะมีแรงงานประมาณ 300 คนต่อแห่ง
นอกจากนี้ ธุรกิจล้งยังได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานส่งออกเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ จากเดิมจะให้ล้งเป็นผู้จัดหากุ้ง แกะกุ้ง และส่งเข้าโรงงาน หรือบางครั้งส่งกุ้งมาให้ล้งแกะ แต่ปัจจุบันโรงงานส่งออกจะไปหาซื้อกุ้งจากฟาร์มโดยตรง และแกะกุ้งเองในโรงงาน ทำให้ล้งขาดรายได้จากค่านายหน้าในการจัดหาวัตถุดิบ ดังนั้น ล้งรายใหญ่ที่เหลืออยู่กำลังหารือที่จะรวมตัวกันทำธุรกิจส่งออกกุ้งเอง