พาราสาวะถี
การเลือกตั้งที่ผ่านมาหัวคะแนนธรรมชาติประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อมาติดขัดในขั้นตอนการโหวตที่ถูกวางกับดักไว้โดยขบวนการสืบทอดอำนาจ
เดินกันตามเกมที่วางไว้ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่ง นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกลให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือกโดยไม่มีใครเสนอชื่อแข่ง แต่กว่าจะได้เวลาลงคะแนนที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาแจ้งไว้คือห้าโมงเย็น ก็มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ประเด็นที่ ส.ส.ขั้วรัฐบาลเดิม และ ส.ว.ลากตั้งหยิกยกมาตีหนีไม่พ้นเรื่อง กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมถือหุ้นไอทีวีขาดคุณสมบัติ ส.ส. แต่เน้นปมที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องทนายความพุทธะอิสระร้องสอบแก้ไขมาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ
มีดุเดือดกันทุกช่วงไม่ว่าใครจะเป็นผู้อภิปราย เมื่อพิธาขอใช้สิทธิถูกพาดพิง ที่เป็นไฮไลต์คงเป็นกรณีของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ที่จี้ให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลเลิกล้มการแก้ไขมาตรา 112 แล้วพรรคภูมิใจไทยจะโหวตให้ พร้อมวลีเด็ด “ขอเป็นโจรที่รักสถาบัน” โดยที่พิธาได้ตอกกลับการอภิปรายดังกล่าวว่า ตนพัฒนาภาวะผู้นำของตนให้เป็นคนที่รักษาคำพูด เหมือนกับสโลแกนของพรรคภูมิใจไทยเป๊ะว่า “พูดแล้วทำ” โดยเฉพาะสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนอย่างไรก็คงที่จะต้องทำตามอย่างนั้น
ไม่เพียงเท่านั้นสิ่งที่พิธาโต้กลับนั้น ทำเอาพวกที่จ้องจะเล่นงานสะอึกกันอยู่ไม่น้อยเพราะเป็นการแสดงออกที่ผิดเวที เนื่องจากการประชุมรัฐสภาคราวนี้เป็นเวทีเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เวทีในการแก้ไขกฎหมายใด ๆ จึงไม่ใคร่ที่จะมีใครมาอภิปรายทักท้วงหรือแสดงข้อห่วงใย เพราะในความเป็นจริงเรื่องการแก้ไขกฎหมายไม่ว่าจะมาตรา 112 หรือเรื่องใดก็ตาม จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ สิ่งสำคัญคือ วุฒิสภาจะต้องร่วมให้ความเห็นชอบด้วย
กรณีของมาตรา 112 นั้นไม่ใช่เฉพาะพรรคขั้วรัฐบาลเดิมและ ส.ว.ลากตั้งเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย แม้แต่ 7 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลก็ไม่ได้สนับสนุน จึงไม่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงที่ได้เซ็นเอ็มโอยูร่วมกัน นั่นหมายความว่า ก้าวไกลก็พร้อมที่จะใช้กลไกของสภาในการร่วมกันพิจารณาเพื่อให้ช่วยกันตรวจสอบว่าประเด็นที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมนั้นเป็นเรื่องของการยกเลิกหรือแก้ไข ถ้าแก้ไขเป็นการแก้ไขให้ดีขึ้นหรือแย่ลง ฟังจากที่พิธาตอกย้ำก็คือ “พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง”
เจตนาก็คือต้องไม่มีนักการเมืองฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐใช้สถาบันมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือเล่นงานฝ่ายเห็นต่าง ซึ่งเป็นมาโดยตลอดนั่นเท่ากับเป็น “พวกดึงฟ้าต่ำ” อย่างไรก็ตาม ท่วงทำนองที่ปรากฏผ่านความพยายามที่จะสกัดกั้นพิธาไม่ให้ได้รับการโหวตเลือกเป็นนายกฯ นั้น ไม่ใช่เพียงแค่องคาพยพของขบวนการสืบทอดอำนาจเท่านั้นที่แอ็กชันกันอย่างเต็มที่ หากแต่ฝ่ายที่สูญเสียผลประโยชน์ซึ่งได้รับการประเคนจากอำนาจเผด็จการก็ซัพพอร์ตด้านกระสุนอย่างเต็มกำลัง
แทบจะไม่ต้องบอกว่ามีพวกไหนบ้าง โดยเฉพาะบริษัทด้านธุรกิจพลังงานที่มองเห็นได้ชัดว่าจะได้รับผลกระทบเข้าไปเต็ม ๆ หากก้าวไกลตั้งรัฐบาลสำเร็จ จากนโยบายที่จะเข้าไปบริหารจัดการโดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญไม่ใช่ต่างตอบแทนนายทุนเหมือนที่ผ่านมา อาการไม่ปกติตรงนี้สะท้อนให้เห็นแล้วตั้งแต่กรณีความพยายามในการจะปลุกผีไอทีวีให้มาประกอบธุรกิจสื่อที่แผนดันพลาด เท่ากับการประจานความโสมมของพวกที่สมคบคิดกันทำชั่วแบบน่าละอาย
ส่วนประเด็นที่ว่า การโหวตนายกฯ รอบแรกหากพิธาไม่ผ่านด่าน 376 เสียงสถานการณ์จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร แทบจะไม่มีอะไรให้ต้องคาดเดา การเมืองสูตร 2-3-4 ก็มีการวิเคราะห์กันไปหมดแล้วว่าจะออกทางไหน นาทีนี้มองกันไปไกลถึงความเป็นไปได้ที่ พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.จะส้มหล่นเต็มตีนได้นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศสมใจอยาก ด้วยสูตรพลิกคว่ำพลิกหงายเพื่อไทยจำใจฉีกเอ็มโอยูไปจับขั้วการเมืองใหม่ แต่ด้วยเงื่อนไขสารพัดจึงต้องเปลี่ยนตัวคนที่จะเสนอชื่อเป็นนายกฯ
คำถามคือ ทำไมต้องเป็นพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. เมื่อทุกอย่างถูกออกแบบมาเพื่อพวกเรามันจะปล่อยมรดกตกทอดของเผด็จการสืบทอดอำนาจให้เป็นของคนอื่นได้อย่างไร ถ้าเช่นนั้นพรรคอันดับ 3 อย่างภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จะยอมให้ถูกข้ามหัวอย่างนั้นหรือ คำตอบคือถ้าแลกกับการเป็นผู้กุมความได้เปรียบในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลย่อมแลกได้ ไม่ต่างจากพรรคนายใหญ่ด้วยปัจจัยทางการเมืองที่บีบบังคับจำใจต้องเล่นตามน้ำกันไปก่อน
อย่าลืมว่า กลางปีหน้า ส.ว.ลากตั้งก็จะหมดสิทธิ์ยุ่งกับการโหวตเลือกนายกฯ แล้ว พรรคการเมืองทั้งหลายมองเห็นปัจจัยสำคัญตรงนี้ หากสามารถตั้งรัฐบาลเพื่อให้ประเทศเดินไปได้ก่อน ถึงเวลานั้นการเมืองก็สามารถที่จะพลิกผันได้ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นก็ต้องประเมินสถานการณ์เบื้องหน้าก่อน ผ่านวันโหวตเลือกนายกฯ รอบแรกไปแล้ว แรงกระเพื่อมจากภาคประชาชนเป็นอย่างไร จังหวะก้าวของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลยังมั่นคงมีเสถียรภาพกันอยู่หรือไม่
ทั้งสองส่วนนี้จะเป็นตัวชี้วัดเกมในสภาต่อการนัดโหวตครั้งต่อไป หากม็อบฝ่ายประชาธิปไตยปลุกกระแสขึ้น มีแรงกดดันมหาศาล ขณะที่ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล มองเห็นว่าการดันพิธาต่อไปเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุเป้าหมายตั้งรัฐบาลของประชาชน จำต้องเปลี่ยนตัวเลือกใช้บริการแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย ถึงตรงนั้นยังไงก็คงต้องเป็น เศรษฐา ทวีสิน เพราะหากเป็น แพทองธาร ชินวัตร คงถูกกระแสต่อต้านไม่ต่างจากพิธาอย่างแน่นอน
การเลือกตั้งที่ผ่านมาหัวคะแนนธรรมชาติประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อมาติดขัดในขั้นตอนการโหวตที่ถูกวางกับดักไว้โดยขบวนการสืบทอดอำนาจ หน้าที่ต่อไปก็จะเป็นการส่งต่อให้ม็อบธรรมชาติ ปรากฏการณ์ม็อบทันทีที่ กกต.ลงมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติพิธาเป็นเพียงบททดสอบการระดมมวลชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงเวลานั้นความพยายามสมคบคิดกันของพวกอยากอยู่ยาวและทุนสามานย์ อาจต้องแลกด้วยการนองเลือดและประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป