สงครามเงินเฟ้อ..เพิ่งเริ่มต้น.!?
จากข้อมูล CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานที่ยังคงเห็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง และสภาพเศรษฐกิจยังทรงตัว
จากข้อมูล CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานที่ยังคงเห็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง และสภาพเศรษฐกิจยังทรงตัว แสดงให้เห็นว่า ตลาดสะท้อนถึงความเป็นไปได้กว่า 90% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ไปอยู่ที่ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน กรกฎาคมนี้
โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อ่อนตัวลง สู่ระดับ 4% ช่วงเดือน พฤษภาคม ถือเป็นจุดต่ำสุดรอบกว่า 2 ปีอย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% เทียบกับเดือนที่ผ่านมา และ 5.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ Kokou Agbo-Bloua นักเศรษฐศาสตร์จากโซซิเอเต้ เจเนเรล ธนาคารชั้นนำสัญชาติฝรั่งเศส ระบุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกเดินทางมาถึง “การสิ้นสุดของจุดเริ่มต้น” ของการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากมีอีกหลายปัจจัย ที่ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ประเด็นแรกของปัญหาเงินเฟ้อ คือการที่รัฐบาลใช้เงินจำนวนมากในการอุ้มเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ประมาณ 10-15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
ประเด็นที่สอง คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เกิดการติดขัดของห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนั้นยังมีปริมาณเงินเก็บส่วนเกินสูงขึ้นอย่างมาก บวกกับภาวะ “เงินเฟ้อจากความโลภของบริษัท” หรือ Greedflation นั่นก็คือการที่บริษัทพากันขึ้นราคาสินค้าสูงกว่าที่จะสามารถทำได้ ส่งผลให้มีตัวเลขอัตรากำไรสูงแตะระดับสูงสุดรอบ 10 ปี
อย่างไรก็ดี Agbo-Bloua ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ มีวิธีการรับมือกับภาวการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง โดยสามารถทำได้ด้วยการรีไฟแนนซ์งบดุลบริษัท และไปเก็บเงินจากลูกค้าแทน ด้วยการขึ้นราคาสินค้า ทำให้ต้องเผชิญกับทั้งราคาผลิตภัณฑ์ และค่าบริการที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความตึงตัวตลาดแรงงานอย่างมาก โดยมีการเติบโตของผลิตภาพจากแรงงานต่ำลง ซึ่งเป็นจุดที่ไปดันต้นทุนแรงงานต่อหน่วย ขณะที่ค่าแรงกลับปรับสูงขึ้น โดย Agbo-Bloua ระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐจำเป็นต้องทำให้เกิดภาวะถดถอย เพื่อเป็นการบังคับให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น และก่อให้เกิดการทำลายอุปสงค์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจยังไม่ได้ดำเนินไปจนถึงจุดนั้น
โดยผลกระทบจากการคุมเข้มนโยบายการเงินนั้น มักจะช้ากว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันประมาณ 3-5 ไตรมาส อย่างไรก็ตามปริมาณเงินเก็บส่วนเกินที่สูงช่วงโควิด-19 จะเป็นตัวช่วยสำหรับผู้บริโภค และครัวเรือน ขณะที่บริษัทจะสามารถกู้งบดุลให้กลับมาได้
ทั้งนี้ Agbo-Bloua ประเมินว่า ธนาคารกลางต่าง ๆ โดยเฉพาะเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือจนกว่าจะถึงจุดที่ก่อให้เกิดภาวะถดถอย โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือชะลอตัวช่วงไตรมาสแรกปี 2567 หลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาหลายครั้ง
โดยจะเริ่มเห็นจากอัตรากำไรของบริษัท ที่ก่อนหน้านี้ทำสถิติแตะจุดสูงสุด หรือยังอยู่ระดับสูง นอกจากนั้นแล้วการเติบโตของค่าจ้างจะทำให้บริษัทมีกำไรที่ลดลง แต่ในทางกลับกันไม่คิดว่าจะเกิดภาวะถดถอยในยุโรป เนื่องจากยังมีอุปสงค์สูงกว่าอุปทานอยู่ประมาณ 2-3% จึงคิดว่าจะเป็นเพียงแค่ภาวะชะลอตัวเท่านั้น
เมื่อดูจากเทรนด์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว จะเห็นว่าโลกอาจยังต้องเผชิญกับการขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก ก่อนที่ภาวะถดถอยหรือการชะลอตัวจะเกิดขึ้น..!!