ทำความรู้จัก 2 หุ้น “ไอพีโอ” เรียงคิวเทรดต้น ส.ค.นี้
ทำความรู้จัก 2 หุ้นไอพีโอ KCG-I2 เตรียมลงสนามเทรดต้นเดือน ส.ค.นี้ ประเดิมด้วย KCG เทรด 3 ส.ค.นี้ ส่วน I2 ลงเทรด 8 ส.ค.66
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหุ้น “ไอพีโอ” ที่เตรียมเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้ จำนวน 2 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและขนมตะวันตก (Western foods) โดยมี 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (Dairy Products) กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ (Food and Bakery Ingredients) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ และกลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต (Biscuits) ที่เตรียมเข้าจดทะเบียนและเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 3 ส.ค. นี้ โดยมี บล.บัวหลวง จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับจำนวนหุ้นที่เสนอขายไม่เกิน 155,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.4 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยเสนอขายที่ราคา 8.50 บาทต่อหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 1,317,500,000 บาท
โดยการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ในครั้งนี้ที่ 8.50 บาทต่อหุ้น หากพิจารณาผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (วันที่ 1 เม.ย.65 – 31 มี.ค.66) ซึ่งเท่ากับ 267.28 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ หลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (Fully Diluted) ซึ่งเท่ากับ 545 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.49 บาทต่อหุ้น จะคิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: “P/E”) ประมาณ 17.33 เท่า
สำหรับวัตถุประสงค์ในการใช้เงิน ได้แก่ 1.ลงทุนในการก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Pack, 2 ลงทุนซื้อเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิต, 3.ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 2 แห่ง ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงิน 1 แห่งซึ่งเป็น และ/หรือ มีความสัมพันธ์กับที่ปรึกษาทางการเงิน ได้แก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ซึ่งรวมถึงการชำระคืนเงินกู้ยืมที่บริษัทได้กู้ยืมมาใช้ลงทุนในข้อ 1 จำนวน 53 ล้านบาท และข้อ 2 จำนวน 262 ล้านบาท และ 4 ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัท
นายวาทิต ตมะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ KCG เปิดเผยว่า เงินระดมทุนส่วนแรกใช้เพื่อก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park บริเวณโรงงานที่บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งจะมีทั้งอาคารสำหรับจัดเก็บสินค้าแช่แข็ง (Frozen) 2 อาคาร และแบบอุณหภูมิห้อง (Ambient) 3 อาคาร และอาคารจัดเก็บวัตถุดิบในการผลิต จำนวน 1 อาคาร
เงินระดมทุนส่วนที่สองใช้ลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยวางแผนขยายกำลังการผลิตชีสจากเดิม 2,106 ตัน/ปี เป็น 4,212 ตัน/ปีในปี 66 ส่วนกำลังการผลิตเนยจากเดิม 18,596 ตัน/ปีในปี 64 เพิ่มเป็น 23,261 ตัน/ปีในปี 67
ส่วนแผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปี มีแผนเน้นไปที่ตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยจะใช้ความเก่งด้าน Logistics ที่ส่งสินค้าแบบควบคุณอุณหภูมิได้ มารองรับการขนส่งสินค้าได้หลากหลายประเภท ขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสในตลาดต่างประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรจำนวนมากอย่าง อินโดนีเซีย ที่มีจำนวนการบริโภคเนยและชีสมากที่สุดในอาเซียน หรืออย่างใน อินเดียและจีนเราก็สนใจ
รวมถึงวางแผนออกสินค้าใหม่ ๆ รองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตั้งเป้าไว้ดังนี้ คือ 1) สินค้าที่เน้นความสะดวกให้กับผู้บริโภค ต้องใช้ง่าย มีแพ็คเกจจิ้งสะดวกในการใช้งาน 2) สินค้าที่เป็น Ready to Cook- Ready to Eat และ 3) สินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งวัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
นอกจากนี้ต้องการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (M&A) หรือการร่วมทุน (JV) โดยมองโอกาสตลอด Supply Chain ของเรา ทั้งธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัท
“วิสัยทัศน์ของเราเขียนไว้ว่าจะเป็นผู้นำของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมและอาหารรสเลิศ ซึ่งคำว่าผู้นำก็ต้องนำนวัตกรรมมาใช้นำเสนอผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญจะต้องมียอดขายมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งก็เป็นเป้าหมายต่อไปของเรา” นายวาทิต กล่าว
2.บริษัท ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ I2 ประกอบธุรกิจบริการ System Integration (SI) แบบครบวงจร ได้แก่ ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร โทรคมนาคม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Infrastructure, Network, Transformation, อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสัญญาณดาวเทียม และเทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงาน และเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 8 ส.ค.66 โดยมี บล.หยวนต้า จำกัด และ บริษัท เอส 14 แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับจำนวนหุ้นที่เสนอขายจำนวน 120,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 28.57 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนในครั้งนี้ โดยเสนอขายที่ 2.70 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 324,000,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น
โดยการกำหนดราคาของหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯที่จะเสนอขายในครั้งนี้กระทำโดยการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ด้วยวิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio : P/E) ทั้งนี้ ราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 2.70 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิเท่ากับ 20.11 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลการดำเนินงานในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.65 ถึงวันที่ 31 มี.ค.66 ซึ่งมีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 56.40 ล้านบาท และคำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้จำนวน 420,000,000 หุ้น (Fully diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นประมาณ 0.13 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิดังกล่าว คำนวณจากผลประกอบการในอดีต โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน
สำหรับวัตถุประสงค์ในการใช้เงิน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการบริการโครงการขนาดใหญ่ และเพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัท รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนบริษัท
ด้าน นายอธิพร ลิ่มเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร I2 เปิดเผยว่า เงินระดมทุนส่วนแรกใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในงานบริการโครงการขนาดใหญ่แก่ลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมูลค่างานโครงการที่บริษัททำอยู่ จะอยู่ที่ประมาณสัก 300 ล้านบาท และเชื่อว่าหลังจากที่ได้เงิน IPO จะทำให้บริษัทสามารถรับงานโครงการขนาดใหญ่กว่าเดิมได้
ขณะที่เงินระดมทุนส่วนที่สองใช้สำหรับลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัท และเงินระดมทุนที่เหลือจะให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
“เราเห็นว่ามีบริษัทพันธมิตรหลายรายที่เคยได้ร่วมงานกัน มีธุรกิจใกล้เคียงกับเรา สามารถมาต่อยอดกับธุรกิจที่เราดำเนินอยู่ได้ มี Solution เหมาะสมที่น่าจะเอื้อประโยชน์กับบริษัท เราก็เลยคิดว่าจะนำเงินก้อนนี้มาทำ M&A ด้วย” นายอธิพรกล่าว
โดยสิ้นไตรมาส 1/66 บริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ราว 1 พันล้านบาท ซึ่งทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 68 และแผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปี ก็มั่นใจว่าจะมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มลูกค้าภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่จะต้องใช้ดิจิทัลมาพัฒนากระบวนการทำงานอีกมากตามนโยบาย Thailand 4.0
ขณะที่รายได้จากโซลูชั่นด้านการจัดการและประหยัดพลังงานก็มีทิศทางที่ดีเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลได้ให้สัญญาในการประชุม COP26 ว่าจะให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 93 ซึ่งลูกค้าสำคัญของบริษัทอย่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ก็เป็น Key Man สำคัญที่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้
นอกจากนี้ธุรกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Services) ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่แล้วที่จะต้องให้บริการอย่างทั่วถึงแก่ประชาชน ดังนั้นทางบริษัทเชื่อว่ากสทช.ก็ยังมีงบประมาณมาเพื่อมาให้บริการตรงนี้อย่างต่อเนื่อง