โบรกแนะเก็บ “แบงก์ใหญ่-ประกัน” รับอานิสงส์ กนง. ขึ้นดอกเบี้ย

โบรกแนะเก็บแบงก์ใหญ่ BBL-KTB-SCB-KBANK เด่นสุด ชูประกัน BLA-TLI รับแนวโน้ม ROI ที่เพิ่มขึ้น หลัง กนง. มติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี จาก 2 % เป็น 2.25 % ต่อปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี จาก 2 % เป็น 2.25 % ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งนี่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 9 ปี

เนื่องจากว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยอุปสงค์จากต่างประเทศล่าสุดชะลอลงบ้างแต่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะต่อไป ด้านอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงและมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบเป้าหมายโดยยังมีความเสี่ยงด้านสูง คณะกรรมการฯ ประเมินว่าในบริบทเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวโดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานจึ่งเห็นควรในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งดังกล่าว

ทั้งนี้ บล. ฟินันเซีย ไซรัส  ระบุว่า กนง.ขึ้นดอกเบี้ยตามคาดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.25% ตามคาดและจากถ้อยแถลงของคณะกรรมการฯ ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันได้เข้าใกล้ระดับ Neutral มากแล้วและเศรฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายการเงินในระยะถัดไปจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงจะยังส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคารต่อเนื่อง BBL และ KTB เป็น Top Picks

ด้าน บล.กสิกรไทย ระบุว่า   ธปท.ปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามคาดจาก 2.00% เป็น 2.25% มองธปท.ขึ้นดอกเบี้ยแม้เงินเฟ้อสุดต่ำเพียง 0.2% เนื่องจากเป็นการสร้าง policy space สำหรับการปรับดอกเบี้ยลงในอนาคตประเมินกลุ่มธนาคารหลัก BBL, KTB, SCB เป็นหุ้นที่จะได้ประโยชน์จาก NIM ที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น

ขณะที่ บล.เอเอสแอล ระบุว่า ผลประชุม กนง. ออกมาตามคาด ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% สู่ระดับ 2.25% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวในระยะสั้น ส่วนหนึ่งตามเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวได้ช้า แต่คาดว่าจะปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่สถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปประเมินว่าจะปรบั สูงขึ้นในช่วงครึ่ง หลังของปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรบั ลดลงแต่มีแนวโน้มทรงตัว โดยมีปัจจัยกดดันจาก ต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรบั เพิ่มขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด

ขณะที่ด้านแนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทย กนง.ยังไม่ได้ปิดประตูยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี (27 ก.ย. และ 29 พ.ย.) แต่ก็ให้ภาพว่าเข้าใกล้ปลายทางแล้ว ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 อย่างไรก็ดีเราประเมินว่าหากเฟดไม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบ 19-20 ก.ย. ธปท. ก็มีโอกาสสูงที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยตาม

ส่วนด้านสถิติย้อนหลังของ SET Index หากธปท.เริ่มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากปรับขึ้นมา 3 ครั้ง ล่าสุด (ต.ค. 2551, ต.ค. 2554 และ ธ.ค. 2561) พบว่า SET Index มักจะปรับตัวลงในระยะสั้น ผลตอบแทนเฉลี่ย -1.6%(2เดือน) ก่อนจะปรับตัวขึ้นในเดือนที่ 3 และเริ่มมีนัยยะในเดือนที่ 6 (ผลตอบแทนเฉลี่ย +9.0%) โดย sector ที่outperform ได้แก่ เช่าซื้อ อสังหาฯ ขนส่ง ค้าปลีก สื่อสาร

สำหรับระยะสั้นเป็น Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มธนาคารจาก Loan yield ที่สูงขึ้น จึงแนะนำสะสม BBL (คุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่งที่สุด) KBANK, SCB กลุ่มประกันจากแนวโน้ม Return on Investment (ROI) หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น BLA, TLI

ย้อนไทม์ไลน์ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 

10 ส.ค. 65 เป็นครั้งแรก ที่กลับมาขึ้นดอกเบี้ย จาก 0.50% สู่ 0.75%

28 ก.ย. 65 ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 1.00%

30 พ.ย. 65 มติเอกฉันท์ ขึ้นดอกเบี้ย จาก 1.00% เป็น 1.25%

25 ม.ค. 66 กนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ย จาก 1.25% เป็น 1.50%

29 มี.ค. 66 ขึ้นดอกเบี้ยอีก  0.25%  จาก 1.50% เป็น 1.75%

31 พ.ค. 66 กนง. ขึ้นดอกเบี้ย  0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00%

2 ส.ค. 66 มติเป็นเอกฉันท์ กนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 2.25%ต่อปี

Back to top button