พาราสาวะถี

โดยความเป็นจริงเวลานี้การต่อรองยังดำเนินการกันอยู่ บรรลุเรื่องตัวเลขสัดส่วนกันเรียบร้อยแล้ว ติดขัดเรื่องกระทรวงที่ต้องการจะได้


เป็นอันว่ากระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหนที่ 3 จะเดินหน้าต่อไปทันที เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นร้องให้วินิจฉัยว่ามติที่ประชุมรัฐสภาไม่ให้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โหวตเป็นนายกฯ รอบ 2 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เหมือนอย่างที่คาดหมายไว้ก่อนหน้า เหตุผลที่ไม่รับเพราะผู้ร้องทุกคนไม่ใช่บุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ว่าจะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา

ผู้ร้องเรียนทุกคนจึงไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบมีช่องทางในการยื่นคำร้องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้

นั่นหมายความว่า คนที่จะยื่นร้องให้มีการวินิจฉัยกรณีนี้ได้ต้องเป็นพิธาในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากมติดังกล่าวเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าตัวจะยื่นร้องเองหรือไม่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งให้ชะลอการโหวตเลือกนายกฯ ออกไปตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องขอ จากนี้ไปก็เป็นหน้าที่ของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาว่าจะเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 18 หรือ 22 สิงหาคมนี้ หรือจะรอดูท่าทีของพิธาและก้าวไกลก่อน ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

การแฉโดย ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ที่พุ่งเป้าไปยัง เศรษฐา ทวีสิน ย่อมหมายถึงหอกที่คอยทิ่มแทงเพื่อเตะตัดขาไม่ให้แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทยไปถึงฝัน ขานรับเป็นปี่เป็นขลุ่ยจากพวกลากตั้งขาประจำที่อ้างกลไกคณะกรรมาธิการของสภาลากตั้งว่ายังตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเศรษฐากรณีจัดที่ดินของบริษัทที่ตัวเองเป็นเจ้าของไม่เสร็จ การขับเคลื่อนแบบนี้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ถ้าไม่ใช่การจ้องจะล้มคนที่พรรคแกนนำตั้งรัฐบาลเสนอชื่อให้ที่ประชุมเลือก

ยิ่งมองไปยังสมการการเมือง ตัวเลขที่ฝั่งเพื่อไทยยืนยันยังอยู่ที่ 278 เสียง ไม่บวกรวมไทยสร้างชาติ 36 เสียงเข้าไป และอีก 1 จากประชาธิปไตยเพื่อให้ได้ 315 เสียง ยืนยันเสถียรภาพของรัฐบาล ก็เท่ากับว่า ยังขาดเสียงที่จะเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาเกือบ 100 เสียง หากไม่ใช่การขยับเพื่อสร้างการต่อรองในแง่เก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคการเมืองขั้วอำนาจเดิม นี่มันคือการเพิ่มแรงกดดันเพื่อส่งสัญญาณว่าผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ คนที่ 30 ต้องเป็นคนของขบวนการสืบทอดอำนาจเท่านั้น

นั่นย่อมมองไปยัง พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. เพราะน้องเล็กได้ประกาศวางมือไปแล้วคงไม่กลืนน้ำลายตัวเอง ส่วนพรรคอันดับสามอย่างภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล และลิ่วล้อมีเป้าหมายชัดไม่ได้ต้องการตำแหน่งผู้นำประเทศ แต่ขอกลับไปดูแลกระทรวงเดิมทั้งหมด หวยล็อกันไว้แบบนี้ต้องดูวิธีการแก้เกมของเพื่อไทยจะพลิกแพลงอย่างไร ข้อต่อรองที่มีพลังซึ่งอยู่ในมือเวลานี้มีเพียงเรื่องเดียวคือ ไม่โหวตให้นายกฯ จากขั้วอำนาจเดิม แล้วถอยทัพกลับไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับก้าวไกล ก็จะเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปโดยปริยาย

เมื่อพรรคขั้วอำนาจเดิมไม่ประสงค์ที่จะให้เป็นเช่นนั้น ขบวนการสืบทอดอำนาจต้องยอมถอยเพื่อให้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยที่เทเดิมพันหมดหน้าตักไปแล้วได้ถึงฝั่งฝันหรือไม่ ส่วนประเด็นที่ว่าจะขอให้มีการเปลี่ยนตัวจากเศรษฐา เป็น “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร นั้น คงเป็นไปได้ยาก เมื่อทางครอบครัวของเจ้าตัวไม่ประสงค์ที่จะให้ลูกคนเล็กไปลุยโคลนการเมืองในยามนี้ ขอเพาะบ่มประสบการณ์รอเวลาที่เหมาะสมก่อน อีกด้านหากตอบรับก็จะกลายเป็นตำบลกระสุนตกทั้งจากไพร่พลฝ่ายประชาธิปไตย และวกลากตั้ง พรรคการเมืองคู่อริที่จะจับขึงพืดในสภา เสียผู้เสียคนกันไปใหญ่  

ขณะเดียวกันเป้าหมายใหญ่ของเพื่อไทยที่ถูกโจมตีเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่ขอเข้าไปอยู่ในฝ่ายกุมอำนาจรัฐ แต่คือการพานายใหญ่กลับบ้านแบบเท่ ๆ จึงเป็นเครื่องหมายคำถาม แบบนี้ 141 เสียงที่มีก็จะยอมถอยให้ 188 เสียงขั้วอำนาจเดิม เหมือนคำที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่าหากเขาจับมือกันแน่นก็ถือว่าเป็นพรรคอันดับหนึ่งแม้หลายพรรคก็ตาม ถ้าเช่นนั้นจากแกนนำรัฐบาลก็จะกลายเป็นเพียงแค่ผู้ร่วมอาศัยในขบวนการกุมอำนาจเท่านั้น

สำหรับเพื่อไทยมิติทางการเมืองถือว่ายืนอยู่บนเส้นด้ายหรือปากเหว ทางเลือกเท่าที่มองเห็นภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ถึงตอนนี้ หากร่วมหัวจมท้ายกับขั้วอำนาจเดิมโดยไม่อินังขังขอบว่าตัวเองจะอยู่ในสถานะไหน อาจจะถือเป็นการปิดฉากพรรคเจ้าของประชานิยมที่เคยครองใจประชาชนคนรากหญ้ามานานกว่า 20 ปี เรื่องรัฐบาลเสียงข้างน้อยน่าจะมองข้ามไปได้ เพราะไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะกล้าบ้าบิ่นทั้งที่รู้ว่าไม่มีอนาคตขนาดนั้น  

ความเป็นไปได้คือต้องถูลู่ถูกังกันไปโดยดันแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย แล้วแบ่งเค้กกันเพื่อให้สามารถเดินหน้ากันไปได้ก่อน จากนั้นหลังจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ไปแล้ว ค่อยมาเจรจา วางตัวบุคคล ปรับครม.กันอีกกระทอก การเดินแนวทางนี้เท่ากับว่าพรรคขั้วอำนาจเดิมกล้าที่จะยื่นดาบให้เพื่อไทย โดยไม่กลัวว่าท้ายที่สุดจะวกกลับมาทิ่มแทงตัวเอง แต่ทั้งหมดจะต้องผ่านกระบวนการเจรจาให้ตกผลึกก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ

โดยความเป็นจริงเวลานี้การต่อรองยังดำเนินการกันอยู่ บรรลุเรื่องตัวเลขสัดส่วนกันเรียบร้อยแล้ว ติดขัดเรื่องกระทรวงที่ต้องการจะได้ รวมไปถึงพรรคเล็กที่ไม่เข้าเกณฑ์แบ่งเก้าอี้ให้ได้ ก็พยายามรวมตัวกันเพื่อต่อรอง อีกด้านก็ถูกดึงตัวเพื่อไปเพิ่มจำนวนให้บางพรรคการเมือง ไม่ว่าจะอย่างไรเมื่อมีการยกเอาประเพณีปฏิบัติและมารยาททางการเมืองมาบีบเพื่อไทยว่าต้องเคาะกันโหวตนายกฯ หมายความว่า ไม่เกิน 1 วันก่อนประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ ทุกอย่างจะมีบทสรุป แต่จะเป็นการจบแบบพอใจทุกฝ่ายหรือมีแรงกระเพื่อมต้องรอดูอีกที

Back to top button