พาราสาวะถี
กระแสการเมืองร้อนฉ่าขึ้นมาอีกเมื่อ “อุ๊งอิ๊ง” โพสต์ข้อความยืนยัน ทักษิณ จะเดินทางกลับถึงประเทศไทยที่ดอนเมือง 9 โมงเช้าวันที่ 22 สิงหาคมนี้
กระแสการเมืองร้อนฉ่าขึ้นมาอีกเมื่อ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร โพสต์ข้อความยืนยัน ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยที่ดอนเมือง 9 โมงเช้าวันที่ 22 สิงหาคมนี้ เพียงแค่ 1 ชั่วโมงก่อนจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เช่นนี้แล้วไม่แน่ใจว่าจะทำให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตของเพื่อไทยที่ทำท่าว่าจะไร้อุปสรรค ถูกตั้งคำถามจากพวกลากตั้งจนนำไปสู่การปฏิเสธยกมือหนุนหรือไม่ แต่อีกนัยก็อาจเป็นการการันตีได้ว่าดีลที่เซย์เยสกันไปแล้วนั้น ทุกอย่างต้องลงตัว
เมื่อการเดินทางกลับมาเป็นการแสดงตัวอย่างเปิดเผย ในฐานะอดีตนายกฯ จะได้รับโอกาสให้ลูกเมียไปรอต้อนรับ จากนั้นก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการในฐานะผู้ต้องคำพิพากษาจำคุกถึงที่สุดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยการนำตัวไปส่งศาล ซึ่งตามขั้นตอนศาลจะสอบถามว่าเป็นบุคคลตามหมายจับศาลในคดีนี้ใช่หรือไม่ ถ้าเจ้าตัวยอมรับว่าใช่ ศาลก็จะอ่านสรุปคำพิพากษาโดยย่อให้ฟังว่าคดีที่ต้องคำพิพากษาจำคุกนั้นมีกี่คดี และโทษจำคุกแต่ละคดีมีจำนวนกี่ปี
จากนั้นทักษิณก็จะถูกนำตัวส่งเข้าไปรับโทษในเรือนจำตามคำพิพากษา ส่วนจะถูกจำคุกเป็นเวลากี่ปี ตรงนี้ก็ต้องรอตามความชัดเจน แต่ที่แหล่งข่าวจากศาลเปิดเผยกับสื่อมานั้น โทษจำคุกของอดีตนายกฯ คนที่ 23 ไม่ได้สั่งนับโทษต่อเนื่องในแต่ละคดี ทำให้เจ้าตัวจะต้องโทษจำคุกสูงสุดแค่ 5 ปี ที่เหลือก็เป็นกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ ตรงนั้นก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัวและครอบครัวที่จะไปดำเนินการ ซึ่งฟังจากคำอธิบายของ วิษณุ เครืองาม ไปก่อนหน้าด้วยอายุที่เกินกว่า 70 ปี การกลับมารับโทษเช่นนี้ย่อมได้รับการดูแลทั้งเรื่องความปลอดภัย สะดวก และสบายในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถือว่าได้รับอภิสิทธิ์เหนือผู้ต้องขังอื่นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม สื่อต่างประเทศก็พากันมองว่าการกลับบ้านครั้งนี้ของทักษิณเกรงจะกลายเป็นหัวเชื้อทำให้สถานการณ์การเมืองลุกเป็นไฟหรือไม่ ซึ่งเมื่อประเมินจากท่าทีของพวกอนุรักษนิยมแล้ว ด้วยท่วงทำนองต้องสลายขั้วความขัดแย้ง และตีกันก้าวไกลให้พ้นวงโคจรแห่งอำนาจได้สำเร็จ จึงไม่น่าจะเกิดแรงกระเพื่อมจนสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลที่กำลังจะตั้งขึ้นแต่อย่างใด ขณะที่อีกด้านก็มองกันว่าการเลือกกลับมาจังหวะนี้ ก็จะเป็นการลดกระแสต้านของคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยที่มีต่อเพื่อไทยในการพลิกขั้วตั้งรัฐบาลด้วย
ภาพข่าวที่ปรากฏของคนที่มีการเผาเสื้อแดงและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เคยใช้เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการก่อนหน้านั้น เป็นส่วนหนึ่งของคนที่ไม่ยอมรับต่อการพลิกขั้ว แต่ยังมีเสื้อแดงอีกพวกที่สนับสนุนให้เพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ด้วยเชื่อว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ลืมตาอ้าปากกันได้ อีกพวกก็คือคนที่เชียร์ทักษิณโดยตรงไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะพลิกคว่ำพลิกหงายอย่างไร คนเหล่านี้ก็ยังภักดีต่ออดีตนายกฯ ที่เชื่อว่าทำให้พวกตนมีชีวิตดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
เมื่อมองกันว่าการกลับมาของทักษิณน่าจะเกิดแรงต้านน้อย และทุกฝ่ายก็พร้อมที่จะปล่อยให้ว่ากันไปตามกระบวนการ เพราะเจ้าตัวไม่ได้รับสิทธิพิเศษใด ๆ เป็นการกลับมาเพื่อติดคุก ทุกสายตาจึงจับจ้องไปที่การโหวตเลือกนายกฯ มากกว่า ถ้าจับทิศจับทางจนถึงนาทีนี้ โอกาสที่จะเกิดการพลิกผัน เศรษฐารับประทานแห้วน่าจะมีน้อย เพราะการเจรจาระหว่างแกนนำตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมทั้งหลายไปถึงขั้นตกลงเก้าอี้รัฐมนตรีกันเรียบร้อยแล้ว
แน่นอนว่า ภายในวันนี้ (21 สิงหาคม) ทุกพรรคการเมืองคงจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเจรจายุติและทุกพรรคพร้อมที่จะโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยในวันพรุ่งนี้ ส่วนใครจะได้เก้าอี้ไหนเป็นเรื่องมารยาทที่จะต้องให้นายกฯ คนใหม่เข้ามาดูความเรียบร้อย หรือโยนให้พรรคแกนนำเป็นคนชี้แจงแถลงไข ตามหน้าเสื่อที่มีกระแสข่าวหลุดออกมาก่อนหน้านี้ รายชื่อที่ปรากฏส่วนของพรรคร่วมคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นข่าวเท่าไหร่ จะมีก็แค่ภายในเพื่อไทยที่ต้องเคาะในบางตำแหน่งเพื่อความเหมาะสม
การที่มีกระแสข่าวว่า สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จะคัมแบ็คไปคุมกระทรวงคมนาคมเบียด ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคหนึ่งในหนังหน้าไฟที่ร่วมเฟรมเพื่อไทยการละครพลิกขั้วตั้งรัฐบาลรอบนี้ เป็นเพราะตอนแรกเจ้าตัวได้เล็งไปที่กระทรวงพลังงานซึ่งเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าตั้งแต่หลังเลือกตั้งหนที่แล้ว แต่ถูกผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยึดโควตาไปเป็นของตัวเองเสียก่อน หนนี้รวมไทยสร้างชาติก็ยังขอตำแหน่งเดิม จำเป็นต้องหาเก้าอี้กระทรวงเกรดเอที่เหมาะสมมาทดแทน
ไม่มีตำแหน่งไหนแล้วที่จะเทียบเคียงกันได้ ประเสริฐจึงต้องรับบทผู้เสียสละโดยจะไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแทน ส่วนคู่หูของสุริยะจากกลุ่มสามมิตรอย่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน มีความต้องการที่จะไปคุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่เพื่อไทยได้ขอดูแลกระทรวงสาธารณสุขโดยจะส่ง นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ไปคุมเอง จึงต้องยกตำแหน่งนี้ไปให้ อนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย เพราะพรรคนี้ต้องการหาเสียงกับคนรากหญ้าในภาคอีสานและภาคใต้เป็นหลัก จึงถือว่าเหมาะสมที่สุด
แต่ด้วยความทุ่มเทในการทำการเมืองให้พรรคเต็มที่ทั้งที่มาทีหลัง สมศักดิ์ก็จะได้รับปูนบำเหน็จนั่งรองนายกฯควบเก้าอี้ว่าการหนึ่งกระทรวงแต่อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสม หากเป็นไปตามสูตรนี้ที่ว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคขงเบ้งผู้วางแผนเดินเกมพลิกขั้วรอบนี้จากที่จะควบรองนายกฯ กับว่าการกระทรวงมหาดไทย อาจจะเหลือแค่เก้าอี้ มท.1 เพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ถือว่าสมน้ำสมเนื้อ ขณะที่ว่าที่นายกฯ อย่างเศรษฐาเหมือนที่บอกขอแค่โควตากลางในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นมือเป็นไม้เดินงานประชานิยมที่วางไว้ก็พอแล้ว
ทั้งนี้ ยังไม่มีอะไรสะเด็ดน้ำ จนกว่าจะมีการยืนยันว่าเศรษฐาได้เป็นนายกฯ แน่ และไม่มีพรรคไหนบิดพลิ้ว ซึ่งจากการเดินเกมหารือกับพรรคร่วมตั้งรัฐบาลสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มือเจรจาของเพื่อไทยได้รับสัญญาณเป็นบวกทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่พวกลากตั้ง รายที่ตั้งแง่ติโน่นอ้างนี่เพื่อหาเหตุที่จะไม่ยกมือหนุนแคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย ก็แค่พวกขาประจำเสียงดังแต่ไม่มีพลัง หลังจากเผด็จการสืบทอดอำนาจปิดดีลกับพรรคแกนนำเรียบร้อย ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่ตกลง