หุ้นพลังงานดิ่งนำดาวโจนส์ปิดวานนี้ร่วง 253 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (17 ธ.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กร่วงหลุดจากระดับ 35 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลว่า วิกฤตราคาพลังงานอาจจะส่งผลกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และยังได้ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการ
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิด 17 ธ.ค.) ที่ 17,495.84 จุด ร่วงลง 253.25 จุด หรือ -1.43%, ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,002.55 จุด ลดลง 68.58 จุด หรือ -1.35% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,041.89 จุด ลดลง 31.18 จุด หรือ -1.50%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการ เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กร่วงลงหลุดจากระดับ 35 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ดิ่งลง 1.5% หุ้นเชฟรอนร่วงลง 3.1% ส่วนหุ้นมาราธอน ออยล์ และหุ้นวิลเลียมส์ คอส ต่างก็ร่วงลงกว่า 7.2% การร่วงลงของราคาน้ำมันยังได้ฉุดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ รวมถึงโลหะทองแดงร่วงลงด้วย และยังส่งผลให้หุ้นเหมืองแร่อ่อนแรงลง โดยหุ้นฟรีพอร์ท-แมคมอแรน และหุ้นนิวมอนท์ ไมนิ่ง ดิ่งลงกว่า 7.7%
หุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวลงเช่นกัน โดยหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา และหุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ต่างก็ร่วงลง 3.8% ขณะที่หุ้นสเตท สตรีท ร่วงลง 3.2% ส่วนหุ้นของบริษัทรายใหญ่บางแห่งร่วงลงหลังจากที่บริษัทเหล่านี้เปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอ รวมถึงหุ้นเจนเนอรัล มิลส์ ดิ่งลง 3.3% และหุ้นออราเคิล คอร์ป ดิ่งลงกว่า 2%
นักลงทุนมองว่า วิกฤตราคาพลังงานอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และยังได้ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ หลังจากที่ตลาดทะยานขึ้นแข็งแกร่งเมื่อวันพุธ ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ตัดสินใจประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นในอนาคตได้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่มีผลต่อภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว ลดลง 11,000 ราย สู่ระดับ 271,000 ราย ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 300,000 รายเป็นสัปดาห์ที่ 41 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง
ขณะที้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพุ่งขึ้น 11.7% สู่ระดับ 1.2412 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นระดับสุงสุดในรอบ 7 ไตรมาส โดยได้รับผลกระทบจากการขาดดุลรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนในวันนี้เวลา 21.45 น.ตามเวลาไทย สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนธ.ค.