สังคมข่าวหุ้น
ICHI เดินหน้าปรับกลยุทธ์หันจ้างผลิตสินค้า เพื่อรับมือสถานการณ์สินค้าขาดสต๊อก หลังจากขายดีอย่างมาก สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ICHI เร่งปั๊มชาเขียวเพิ่ม “ตัน” ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) เดินหน้าปรับกลยุทธ์หันจ้างผลิตสินค้า (OEM) เพื่อรับมือสถานการณ์สินค้าขาดสต๊อก หลังจากขายดีอย่างมาก สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ทุ่มงบลงทุนราว 460 ล้านบาทซื้อเครื่องจักรใหม่ที่คาดจะเริ่มผลิตได้ในต้นปี 2567 ซึ่งจะหนุนกำลังการผลิตเพิ่มอีก 200 ล้านขวด/ปี เป็น 1,600 ล้านขวด/ปี จากปัจจุบันราว 1,400 ล้านขวด/ปี เพื่อรองรับกับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก แม้สินค้าจะขาดสต๊อกไปบ้าง แต่ยังส่งมอบร้านค้าได้ต่อเนื่องหลังจากปรับแผนมาจ้าง OEM แล้ว และไตรมาส 3/2566 ก็คาดยอดขายจะทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) จากเห็นยอดขายในเดือน ก.ย.-ส.ค. 2566 เติบโตค่อนข้างมาก อีกทั้งบริษัทฯ ก็เตรียมออกสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์ ตัน ซัน ซู ในเดือน ก.ย.นี้ด้วย
TIDLOR สัญญาณดี บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มอง “เงินติดล้อ” มีสัญญาณดีขึ้นจากการที่รายได้ค่าธรรมเนียมโตเร็วกว่าที่วางแผนเอาไว้ บริษัทสามารถเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมได้ประมาณ 28% YoY ซึ่งเร็วกว่าที่วางแผนเอาไว้ที่ 20-25% ในขณะเดียวกัน การเร่งเพิ่มจำนวนพนักงานขายทางโทรศัพท์ หรือ telesales และการเร่งเพิ่มจำนวนตัวแทน น่าจะช่วยหนุนให้รายได้ค่าธรรมเนียมแข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากการเป็นนายหน้าประกันในงวดครึ่งปีแรก คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น บริษัทสามารถรักษาสัดส่วน NPL ให้คงอยู่ในระดับต่ำได้ที่ 1.5% ขยับไปใช้ราคาเป้าหมายที่อิงจากประมาณการกำไรเฉลี่ยสองปี ทำให้ได้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนข้างหน้าใหม่ที่ 27 บาท
PTTEP ขายสัมปทาน บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) แจ้งตลาดฯ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 บริษัท PTTEP Australasia (Ashmore Cartier) Pty Ltd (PTTEP AAA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของ ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายเพื่อขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในแปลงสัมปทาน AC/RL7 ให้แก่ บริษัท INPEX Cash Maple Pty Ltd และ บริษัท TotalEnergies Exploration Australia Pty Ltd โดยแปลงสัมปทานดังกล่าว PTTEP AAA ถือสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 100% ทั้งนี้ การซื้อขาย จะมีผลสมบูรณ์เมื่อบรรลุเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขาย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566
ZEN ครึ่งหลังคึก ยุพาพรรณ เอกสิทธิกุล กรรมการบริหารและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชี ZEN มองภาพรวมธุรกิจของเซ็น กรุ๊ป ในไตรมาส 2/2566 มีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีขึ้นจากรายได้ที่ฟื้นตัวตามสถานการณ์ภายในประเทศ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง และมีการฟื้นตัวของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค โดยในช่วงครึ่งปีแรกนี้ กลุ่มบริษัทฯ มุ่งเน้นการรักษาอัตราการเติบโตของสาขาเดิม และการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้สมดุลกัน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแรงของธุรกิจที่จะส่งผลต่อการเติบโตของ เซ็น กรุ๊ป ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในครึ่งปีหลังอย่างแน่นอน
ITEL คว้างาน กสทช. ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) เผยบริษัทได้เข้าทำสัญญาโครงการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 5 (ภาคใต้) จาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มูลค่าทั้งสิ้น 297,208,550 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่าย โดยสัญญาเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2568 ผลักดันให้ผลประกอบการโดยรวม เติบโตได้ 20-30% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งยังทำให้งานในมือ (Backlog) เพิ่มมากขึ้น
ผู้ว่า กฟผ.ตัวจริงไปไหน ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ กฟผ.นัดพิเศษมีมติแต่งตั้ง ณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการอาวุโส ดำรงตำแหน่ง รักษาการผู้ว่าการ กฟผ. หลังจากที่นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 15 ได้ครบวาระ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนกว่าจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ต่อไป ขณะที่การแต่งตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ชนะสรรหาผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ ยังล่าช้า แม้ว่าจะตกลงกันเรื่องเงินเดือนกันไปแล้ว กกต.ก็ไม่เคาะ หรือต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่มาก่อนนะ