พาราสาวะถี
กลับมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยสำหรับ ทักษิณ ชินวัตร หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการที่สนามบินดอนเมืองแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้คุมตัวไปยังศาลฎีกาทันที
กลับมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยสำหรับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการที่สนามบินดอนเมืองแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้คุมตัวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง เพื่อยืนยันตัวบุคคลตามหมายจับและฟังคำพิพากษาโดยย่อ สรุปต้องโทษจำคุกรวม 8 ปี จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที จากนี้ไปก็เป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมกันต่อไป
ภาพของประชาชน นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย ลูก ๆ หลาน ๆ ที่แห่ไปต้อนรับก็ถือเป็นการสร้างความชุ่มชื่นในหัวใจให้กับอดีตนายกฯ ส่วนชะตากรรมจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป ซึ่งด้วยวัย 74 ปี การรับโทษในเรือนจำอาจไม่ได้มีอภิสิทธิ์เหนือผู้ต้องขังอื่น แต่ก็จะได้รับการพิจารณาในฐานผู้ต้องขังสูงวัย และอดีตนายกฯ ตามที่ วิษณุ เครืองาม เคยบอกไว้ ต้องปลอดภัย สะดวก และสบายตามสมควร ขณะที่ครอบครัวก็จะได้เข้าเยี่ยมใกล้ชิดมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การที่ทักษิณกลับมารับโทษและถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำ มันก็ทำให้ภาพของการเมืองว่าด้วยการขับเคลื่อนและทิศทางของเพื่อไทย เป็นหน้าที่ของผู้บริหารพรรคที่แน่นอนว่า มีการพูดคุย ตกผลึกถึงแนวทางที่จะเดินกันในระยะอย่างน้อยก็ 1-2 ปีจากนี้ไปแล้ว แต่อยู่ที่ว่าสารที่ได้รับมานั้นตีโจทย์แตกกันหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการให้เป็นอย่างแท้จริง โอกาสที่เพื่อไทยจะถูกรุมสกรัมในฐานะที่ตกไปอยู่ในวงล้อมของพรรคเครือข่ายขบวนการสืบทอดอำนาจย่อมมีสูง
เมื่อเลือกที่จะเทเดิมพันหมดหน้าตัก ภาระหนักในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลจึงต้องเร่งผลิตผลงานให้เป็นที่ปรากฏโดยเร็ว อาจเรียกได้ว่ารัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้มีเวลาหยุดพักหายใจหายคอ เพราะยังไม่มีใครกล้าการันตีว่า จากการตัดสินใจพลิกขั้วพร้อมข้อกล่าวหาต่อลมหายใจให้เผด็จการ คสช.อีกเฮือกนั้น แม้จะแสดงศักยภาพในการบริหารจนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น ก็ไม่แน่ว่าคนที่เคยเลือกในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยยังจะให้โอกาสอีกหรือไม่
การถอนตัวจากผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และการลาออกจากสมาชิกพรรคของ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.เชียงใหม่ของพรรค คือภาพสะท้อนของการรับไม่ได้ต่อการตัดสินใจทางการเมืองเช่นนี้ของพรรค ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองคนคือผู้ที่ยึดมั่นในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ เป็นผู้ถูกกระทำจากเผด็จการ คสช.มาด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น การต่อสู้ทางการเมืองที่ว่าด้วยการเลือกตั้งครั้งต่อไปของเพื่อไทยต้องยอมรับความจริงว่าเหนื่อยแสนสาหัสแน่นอน ไม่รู้ว่าจะซ้ำรอยประชาธิปัตย์หรือไม่
ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่การเดินเกมในฐานะแกนนำตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปในระดับหนึ่ง เมื่อสามารถที่จะดันให้ เศรษฐา ทวีสิน สามารถก้าวไปนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้ด้วยเสียงท่วมท้น แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับเสียงวิจารณ์จากสังคมก็คือ การดึงเอาพรรค 2 ลุงเข้าร่วมรัฐบาล ก็เท่ากับการเติมเสียงหนุนจากพวกลากตั้งไปโดยปริยาย ไม่จำเป็นที่จะต้องแจกกล้วยแลกเปลี่ยน บอกไว้แล้วว่า เมื่อปิดดีลกันลงตัวทุกอย่างต้องเป็นไปตามนั้น
เพียงแต่ชื่อเรียกของรัฐบาลที่เกิดขึ้นอาจจะมีหลากหลาย ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ก็จะบอกว่าเศรษฐาเป็นนายกฯ ของ สว. เพื่อไทยคือรัฐบาล คสช. ขณะที่เพื่อไทยย้ำว่านี่เป็นรัฐบาลพิเศษ ด้านพรรคขั้วเดิมก็มองว่าการจับมือครั้งนี้เสมือนเป็นรัฐบาลแห่งชาติ จะเรียกแบบไหนก็ตามหน้าตาของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล และผลงานที่จะต้องทำตั้งแต่วินาทีแรกจะเป็นบทพิสูจน์ ซึ่งในการประสานงานก่อนปิดดีลนั้น มีรายงานว่ามีจุดคลิกที่ทำให้การเจรจาลงตัว
นั่นก็คือ ฝ่ายขั้วอำนาจเดิมต้องการจะเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งให้สำเร็จโดยการถือธงนำของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ถือเป็นการไถ่โทษแทนน้องเล็กที่อยู่มากว่า 9 ปีแต่ทำไม่สำเร็จ เหตุที่เกิดความมั่นใจขนาดนั้นเนื่องจากมีการเตรียมการทั้งทางด้านกฎหมาย และการพูดคุยกับกลุ่มอีลิทที่มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารประเทศ ต่างเห็นดีเห็นงามด้วย ด้านของเพื่อไทยเมื่อมีเงื่อนไขแบบนี้ก็เข้าทาง เพราะตัวเองต้องการที่จะเข้ามาแสดงฝีมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องอยู่แล้ว จึงถือว่าไม่มีอะไรที่จะทำให้ต้องมาเหยียบตาปลากัน
คำถามตัวโตคือฝ่ายอนุรักษนิยมทำไมถึงยอมให้กับระบอบทักษิณที่ตัวเองปลุกผีตัวนี้ตามหลอกหลอนคนไทยมานานเกือบ 20 ปี สาเหตุมาจากตลอดระยะเวลาที่พยายามทำทุกวิถีทางกระทั่งการวางกลไกสืบทอดอำนาจเพื่อการอยู่ยาว ก็พบว่าพรรคที่ตั้งกันขึ้นมานั้น ไม่สามารถที่จะเอาชนะฝ่ายประชาธิปไตยได้ โดยเฉพาะหนล่าสุดเป็นภาพประจักษ์ ดังนั้น การดึงเพื่อไทยมาเป็นพวกก็หวังว่าน่าจะทำให้เกิดมุมมองในแง่บวกเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้เพื่อไทยเป็นพรรคของฝ่ายอนุรักษนิยม ยังเชื่อว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาอีก
นั่นอาจมองยาวไป เพราะยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่ารัฐบาล 11 พรรคจะอยู่กันได้นานขนาดไหน และพรรคขั้วอำนาจเดิม เมื่อได้เก้าอี้ที่ต้องการไปแล้ว จะสามารถแก้ตัวจากการทำงานที่ล้มเหลวร่วมกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ เฉพาะหน้าว่าด้วยการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีจากที่ปรากฏเป็นข่าวแทบจะไม่มีอะไรที่ต้องทำให้เกิดปัญหา แต่มีรายงานว่า หลังจากได้รับการโหวตเรียบร้อยแล้ว เศรษฐาจะหารือกับแกนนำเพื่อไทยขอดูรายชื่อรัฐมนตรีที่ผ่านโต๊ะเจรจามาแล้ว ซึ่งไม่น่าจะมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม
ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ยังคงขอเก้าอี้ที่เป็นโควตากลางคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่จำเป็นต้องดึงคนนอกเข้ามาเพื่อความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันเพื่อเลี่ยงข้อครหาหากใช้คนของพรรคเพื่อไทย เพราะนโยบายสำคัญคือดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและทำให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้ ไม่ต่างกันกับวาระแรกที่จะผลักดันผ่าน ครม.คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.มายกร่าง สองเรื่องนี้จะเป็นจุดวัดผลการเดินหน้าทำงานของเพื่อไทยที่ตั้งความหวังไว้ หากสะดุดตั้งแต่ต้นก็คงคาดเดากันได้ไม่ยากว่าสถานการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลจะเดินกันไปแบบไหน