“ก.ล.ต.” เฮียริ่งปรับเกณฑ์ลงทุนโทเคน-รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล

“ก.ล.ต.” เปิดเฮียริ่งปรับเกณฑ์ลงทุน "โทเคนดิจิทัล" ขยายวงเงินลงทุน-บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อการกำกับดูแลมีความเพียงพอเหมาะสม และคุ้มครองนักลงทุน


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนในโทเคนดิจิทัล การให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้กลไกการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเพียงพอและเหมาะสม สามารถคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการระดมทุนเพื่อพัฒนาประเทศ

ตามที่ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในเดือนมีนาคม – เมษายน 2566 ต่อหลักการในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนในโทเคนดิจิทัล การให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไปแล้วนั้น เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม สอดรับกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล ควบคู่กับการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการระดมทุน โดยยังคงสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตของตลาดทุนและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน

ก.ล.ต. จึงดำเนินการจัดทำร่างประกาศตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.การกำกับดูแลการออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) โดยยกเลิกการจำกัดการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อย สำหรับโทเคนดิจิทัลที่มีอสังหาริมทรัพย์หรือกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินอ้างอิง (real-estate backed ICO) และโทเคนดิจิทัลที่มีกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกระแสรายรับจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินอ้างอิง (infra-backed ICO) จากเดิมที่มีการจำกัดการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยไม่เกินรายละ 300,000 บาทต่อการเสนอขาย เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์และส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการระดมทุน

2.การทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจประเภทผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (custodial wallet provider) และสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเกี่ยวข้องกันในลักษณะที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกันได้ หากเป็นบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทย่อยตามที่กำหนด และอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความพร้อมในการจัดเก็บหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินทางการเงินอื่นของลูกค้าและในการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ความเป็นอิสระต่อกันตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด

3.การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประสงค์จะประกอบกิจการอื่น ต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต. ก่อนดำเนินการ เพื่อให้สามารถติดตามการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4.การปรับปรุงมาตรฐานในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยผู้ประกอบธุรกิจฯ ต้องไม่ให้บริการผ่านผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มความน่าเชื่อถือของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศดังกล่าว บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=932 และระบบกลางทางกฎหมาย https://law.go.th/ ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 7 กันยายน 2566

Back to top button