AOT กำไรเบ่งบานรับท่องเที่ยวฟื้น

AOT เคยได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจเสือนอนกินจากการดำเนินธุรกิจสนามบินในประเทศไทย โดยบริหารสนามบิน 6 แห่ง


คุณค่าบริษัท

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เคยได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจเสือนอนกินจากการดำเนินธุรกิจสนามบินในประเทศไทย โดยบริหารสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย, หาดใหญ่ และภูเก็ต แต่การมาของโควิดทำให้ AOT กลายเป็นเสือลำบาก…ได้รับผลกระทบหนักถึงขั้นพลิกมาขาดทุน 2 ปีซ้อน โดยในปี 2564 (1 ต.ค. 2563-30 ก.ย. 2564) มีรายได้รวม 7,715 ล้านบาท ขาดทุน 16,322 ล้านบาท และปี 2565 (1 ต.ค. 2564-30 ก.ย. 2565) มีรายได้รวม 16,992 ล้านบาท ขาดทุน 11,087 ล้านบาท

แต่เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ผลการดำเนินงานของ AOT ก็ค่อย ๆ กระเตื้องขึ้นตามลำดับ ล่าสุดเปิดงบไตรมาส 3/2566 (เม.ย.-มิ.ย.) พลิกมามีกำไรสุทธิ 3,155 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 2,207 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 12,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 177.63% จากการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 192.20% อยู่ที่ 6,054 ล้านบาท และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 4,305.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 165.99% เนื่องจากจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารโดยรวมเพิ่มขึ้น

ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกปี 2566 (ต.ค. 2565-มิ.ย. 2566) พลิกมามีกำไรสุทธิ 5,358 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 9,755 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 32,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 227.45% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 10,010 ล้านบาท

ขณะที่ ตัวเลขสถิติการบินท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ของ AOT ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (ต.ค. 2565-พ.ค. 2566) มีผู้โดยสารรวม 66.38 ล้านคน เพิ่มขึ้น 170.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 34.31 ล้านคน เพิ่มขึ้น 635.7% และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.06 ล้านคน เพิ่มขึ้น 61.3% โดยมีเที่ยวบิน 422,900 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 79% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 202,700 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 175.2% และเที่ยวบินภายในประเทศ 220,300 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 35.4%

ด้าน บล.ดาโอ ระบุว่า ยังคงประมาณการกำไรปี 2566 ของ AOT ที่ 8.9 พันล้านบาท ดีขึ้นจากปี 2565 ที่ขาดทุน 1.1 หมื่นล้านบาท โดยกำไรในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 จะคิดเป็น 61% จากทั้งปี ขณะที่ไตรมาส 4/2566 จะดีขึ้นจากจำนวนผู้โดยสารที่เติบโต หลังจากผ่านช่วง low season ของการท่องเที่ยว ส่วนกำไรปี 2567 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตขึ้น และ King Power ทั้งนี้ยังประเมินจำนวนผู้โดยสารปี 2566-2567 ที่ 100 ล้านคน เพิ่มขึ้น 114% จากปีก่อน และ 140 ล้านคน เพิ่มขึ้น 40% จากปีก่อน ใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้นซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 254.57 เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 21.51 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายสูงกว่าตลาดหลายเท่าตัว สอดคล้องกับ P/BV ที่ระดับ 9.61 เท่า ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดที่ปัจจุบันซื้อขาย P/BV เฉลี่ยที่ 1.51 เท่า โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 83.37 บาท จากราคาต่ำสุด 72.00 บาท และราคาสูงสุด 92.00 บาท

Back to top button