พาราสาวะถี
พลิกไปพลิกมาจนกว่าจะมีการส่งรายชื่อให้กับทาง สลค. นำไปตรวจคุณสมบัตินั่นแหละ จึงจะเป็นการยืนยันว่าโผ ครม.รัฐบาลเศรษฐา 1 ตกผลึกกันเรียบร้อยแล้ว
พลิกไปพลิกมาจนกว่าจะมีการส่งรายชื่อให้กับทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำไปตรวจคุณสมบัตินั่นแหละ จึงจะเป็นการยืนยันว่าโผ ครม.รัฐบาลเศรษฐา 1 ตกผลึกกันเรียบร้อยแล้ว และน่าจะจบเมื่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำด้วยตนเองมีการส่งชื่อบุคคลที่ถูกวางตัวเป็นรัฐมนตรีไปให้ตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว หากเป็นเช่นนั้นจริงก็หมายความว่าเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหมจะกลับมาเป็น สุทิน คลังแสง แทน “บิ๊กเล็ก” พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ คนสนิทผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ
เหตุผลชัดเจนอยู่แล้วว่าเพื่อไทยถูกต่อต้านจากกลุ่มคนเสื้อแดงในภาคอีสาน เพราะผู้ที่มีชื่อว่าจะเข้ามาคุมกลาโหมนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง จากกระแสพรรคที่พลิกขั้วฉีกเอ็มโอยู ย่อมไม่มีทางเลือกต้องยอมที่จะไม่ทำตามคำร้องขอจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ซึ่งเจ้าตัวก็ถูกบีบคอเช่นกันจากการประกาศว่าไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร และต้องการให้ประเทศเดินหน้า จึงจำต้องปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามวิถีทางการเมืองไปก่อน จากนั้นค่อยมาขยับกันอีกที ซึ่งเชื่อว่าจะมีการปรับ ครม.กันอีกรอบหลังจากผ่านกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 ไปแล้ว
ขณะเดียวกัน จากรายชื่อที่ปรากฏไปก่อนหน้าก็พบว่ามีการเขย่าโผกันใหม่แทบจะทุกพรรค โดยเพื่อไทยเมื่อดันสุทินไปนั่งว่าการกลาโหมแล้ว จากที่วางตัวไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงดึงเอา เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช มานั่งแทน และก็ชัดเจนว่า กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้จะได้รับความไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในโควตาของพรรคด้วย
พร้อมกับการเอาใจ สส.สายอีสานด้วยการหนุน เกรียง กัลป์ตินันท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ไชยา พรหมา เป็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์ จักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนพรรคและคนที่มีบทบาทมือประสานในพรรคเป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของว่าการจากเดิมที่จะหาคนที่เหมาะสมมาเป็นนั้น ท้ายที่สุดไว้วางใจให้ ปานปรีย์ พหิทธานุกร นั่งควบพร้อมตำแหน่งรองนายกฯ ที่จะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย
ภูมิใจไทยของ อนุทิน ชาญวีรกูล ก็มีการสลับเก้าอี้กัน โดย “เสี่ยป้อม” ทรงศักดิ์ ทองศรี ไม่ขอรับเก้าอี้ว่าการยังคงปักหลักเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยเหมือนเดิม แล้วดัน “เจ๊ผึ้ง” ศุภมาศ อิศรภักดี ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแทน ส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ที่วางตัวเจ๊ผึ้งไว้ก่อนหน้าก็มอบหมายให้ นภินทร ศรีสรรพางค์ ไปประจำการ พรรคของเสี่ยหนูไม่มีเปลี่ยนตัวบุคคล แค่ขยับให้ลงล็อกเท่านั้น
เช่นเดียวกันกับพรรคพลังประชารัฐ วางตัวบุคคลไว้เหมือนเดิม มีเปลี่ยนแค่กระทรวงที่จะไปนั่ง โดยโยก สันติ พร้อมพัฒน์ จากที่วางไว้เป็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขแทน ไผ่ ลิกค์ จากรัฐมนตรีช่วยคมนาคมเป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ พรรคที่มีปัญหากลายเป็นรวมไทยสร้างชาติ หลังจาก หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ปัดรับเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีข่าวว่าทางกลุ่มทุนสนับสนุนให้ พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ มารับตำแหน่งแทนแต่เจ้าตัวก็ปฏิเสธเช่นกัน
จุดสำคัญคือ สส.ภาคใต้ของพรรคต้องการได้โควตารัฐมนตรีว่าการ ทำให้เก้าอี้ดังกล่าวจะตกเป็นของ พิมภัทรา วิชัยกุล ที่เดิมมีชื่อว่าจะไปนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย แทนที่ สุพล จุลใส ที่ถูกระบุว่ามีปัญหาสุขภาพ ส่งผลให้ทางกรรมการบริหารพรรคต้องกุมขมับ นัดหารือกันเป็นการด่วน ถ้ากลุ่มทุนไม่ยอมต้องมีคนของตัวเองนั่งเป็นว่าการ ขณะที่ สส.ใต้ก็ยืนกรานขอมีรัฐมนตรีว่าการในกลุ่มเพื่อความง่ายในการทำงานพื้นที่ งานนี้หนีไม่พ้นที่ต้องจบด้วยคนนอกที่ไม่รู้จะเรียกว่าตาอยู่หรือคนที่มารับเผือกร้อนดี
พิจารณาตามหน้าเสื่อโฉมหน้าของ ครม.เศรษฐา 1 ก็ถือว่าไม่ขี้เหร่ ไม่ยี้ แต่ไม่ถึงกับว้าว ภายใต้บริบททางการเมือง ข้อจำกัดที่ถูกวางกับดักไว้ตามรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจได้แค่นี้ก็น่าจะถือว่าดีที่สุดแล้ว โดยที่นายกฯ คนใหม่ก็พูดดักคอไว้ก่อน มีคนสมหวังย่อมมีผู้ที่ผิดหวังเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะมาเป็นโจทย์ใหญ่ภายในสถานการณ์ของประเทศเวลานี้คือ ทุกคนต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงาน สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์
ด้านเพื่อไทยในฐานะแกนนำ พอจะประเมินกันออกต่อความต้องการจาก สส.ของพรรคโดยเฉพาะ สส.อีสาน ที่อยากให้คนของพรรคได้คุมกระทรวงสำคัญ แต่การไม่แลนด์สไลด์เข้าป้ายมาที่ 2 ต้องยอมตระบัดสัตย์ โดยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเลือกตั้งครั้งหน้าชะตากรรมของพรรคจะเป็นอย่างไร ลูกพรรคจึงต้องเข้าใจหัวอกผู้บริหารพรรคและคณะเจรจา ตามที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคว่า ต้องขออภัยในฐานะที่ไม่ได้เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด จำเป็นต้องมีพรรคร่วมรัฐบาล มีเพียง 141 เสียงต้องหาเพิ่มอีกมาก ทำให้มีข้อจำกัด
สิ่งหนึ่งที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่า เพื่อไทยจะสามารถนำพารัฐบาลพิเศษก้าวไปได้ไกลขนาดไหน จะเรียกศรัทธาคืนมาได้หรือไม่ ก็คือการประกาศที่ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา มั่นใจว่านโยบายที่ได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล จะใช้นโยบายของเพื่อไทยเป็นหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งมีข้อแม้ว่ารัฐมนตรีไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน ต้องยินดีที่จะทำตามข้อผูกพันตรงนี้ด้วย หากแย่งซีนกันโอกาสที่จะเหยียบตาปลาแล้วกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลก็มีสูง
ไม่เพียงแต่ต้องให้พรรคร่วมยอมรับและขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของพรรคเพื่อไทยไปพร้อมกันเท่านั้น นโยบายของพรรคร่วมหลายเรื่อง เช่น เรื่องกัญชาของภูมิใจไทยเพื่อไทยก็ต้องหาทางที่จะช่วยให้เป็นไปตามที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องการด้วยเหมือนกัน แต่ที่เป็นสัญญาประชาคมและจะเป็นบทพิสูจน์สัจจะทางการเมืองของพรรคแกนนำรัฐบาลก็คือ พร้อมที่จะทำนโยบายของพรรคฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลที่เห็นว่าเกิดประโยชน์กับประชาชนมาสานต่อ จริงหรือไม่