องค์การเภสัชกรรม จับมือ “เฮลท์ อัพ” พัฒนาโมเดลต้นเครือข่าย “ร้านขายยา”

องค์การเภสัชกรรม จับมือ “เฮลท์ อัพ” เร่งพัฒนาบุคลากร รับแผนบริหารเครือข่ายร้านยา - ตั้งเป้า 3 ปี ยกระดับร้านยาร่วมโครงการ 1,000 สาขา


ภญ.ปาริชาติ แคล้วปลอดทุกข์ ผู้เชี่ยวชาญ 10 องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าความร่วมมือกับ บริษัทเฮทล์ อัพ จำกัด (Health Up) เพื่อพัฒนาโมเดลต้นแบบเครือข่ายธุรกิจร้านขายยา (Health Network Prototype Model) ว่า หลังจากมีการลงนามเอ็มโอยูไปเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา ทาง อภ.และ เฮลท์ อัพ ได้เดินหน้าจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้การบริหาร Chain Store ร้านยา รวมทั้งจัด Workshop ร่วมกันในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือดังกล่าว

โดยรูปแบบการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบเวิร์คช้อป ช่วยให้ระดมความคิดและเห็นชัด ในกลยุทธ์การบริหารร้านค้าปลีกยาและเวชภัณฑ์ ทั้งการวิเคราะห์ทำเล และวิเคราะห์สต็อกสินค้า รวมถึงพนักงานในร้านยาด้วยว่าควรจะมีมายด์เซทอย่างไร และที่สำคัญคือ การดีไซน์โฟล์ การบริการลูกค้า  หรือ Customer Journey ควรต้องได้รับบริการอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด การทำมาร์เก็ตติ้ง ทำโปรโมชั่นต่างๆ ทั้งหมดนี้ เราได้บรรจุไว้ในการ work shop ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี” ภญ.ปาริชาติกล่าว

“องค์การเภสัชกรรม เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความมั่นคงทางยาของประเทศ ดังนั้นกิจการที่เราดำเนินการอยู่จะประกอบไปด้วยภาคส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และต่างประเทศ ซึ่งโครงการนี้เราโฟกัสลงมาที่เครือข่ายภาคเอกชน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ยาที่เราผลิตไปถึงมือประชาชนในท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด  เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยาในราคาที่สมเหตุสมผล” ภญ.ปาริชาติ กล่าว

นอกเหนือจากเป็นผู้ผลิตแล้ว องค์การเภสัชกรรม ยังต้องเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการกระจายยาจากส่วนกลางไปสู่ปลายน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในจังหวัด อำเภอ ตำบล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึง จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ และยังได้พันธมิตรที่แข็งแกร่ง คือ เฮลท์ อัพ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ มีเครือข่ายร้านขายยา chain  และมีบริษัทขายส่งในเครือที่แข็งแกร่งคือ DN CENTER  ซึ่งมีศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีฐานร้านขายยากว่า 6,000 ร้านยาทั่วประเทศ ซึ่งตอบโจทย์องค์การเภสัชกรรมที่กำลังมองหาเครือข่ายพันธมิตรที่จะช่วยขับเคลื่อนการกระจายยาขององค์การเภสัชกรรม ให้ไปถึงมือประชาชน

โดยหลังจากกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ ก็จะเข้าสู่โหมดการคัดเลือกรายการยาและสินค้าสุขภาพที่จะกระจายเข้าสู่ร้านยาเครือข่ายโดยวิเคราะห์ความต้องการในแต่ละมิติ เช่น Location base, Problem base และรายการใดสนองนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ในวงกว้าง โดย อภ. และเฮลท์ อัพ จะทำคู่ขนานไปกับการคัดเลือกร้านยาที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ  เพื่อเป็นร้านยาต้นแบบของโครงการ health network โดยจะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

สำหรับโครงการความร่วมมือดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยมีเป้าหมาย ประกอบด้วย 3 ส่วนส่วนแรกคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ ระหว่างบุคลากรซึ่งก็คือ การทำ work shop ได้ทำร่วมกันมา  ส่วนที่ 2 จะเป็นเรื่องของการกระจายสินค้าของ อภ.ไปยังเครือข่าย DN Center เพื่อกระจายไปสู่ร้านค้ายา

ส่วนที่ 3 จะเป็นเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันในอนาคตที่อาจจะต่อยอดในการผลิตสมุนไพรในกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวกับยาหรือสุขภาพเพื่อ ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ผลิตได้เองในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางยาอีกด้วย โดยร้านค้าที่ร่วมโครงการจะ จัดให้มีมุมดิสเพลย์   ผลิตภัณฑ์ยาของ จีพีโอ (GPO) ด้วยรูปแบบโทนสี การตกแต่ง ที่เป็นมาตรฐาน ทุกร้านจะต้องมีป้ายของโครงการ “เครือข่ายร้านยา Health Network จำหน่ายผลิตภัณฑ์องค์การเภสัชกรรม” เพื่อแสดงว่าร้านนี้เข้าร่วมโครงข่ายของอภ.

ด้าน ทพ.วนัสพนธ์ เปล่งสุรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮลท์ อัพ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจร้านขายยามาเป็นเวลา 35 ปี จนถึงปัจจุบัน มีสาขากว่า 80 สาขาทั่วประเทศ และบริษัทขายส่งในเครือ คือ DN CENTER มีเครือข่ายร้านยากว่า 6,000 แห่ง ผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์มามากมาย ความร่วมมือครั้งนี้เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ขณะที่ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมมีผลิตภัณฑ์ยา มากกว่า 300 รายการ แต่มีจำหน่ายในร้านยาเพียง 20-30 รายการเท่านั้น ซึ่งทางบริษัทฯ เห็นว่ายังมีช่องทางที่จะช่วยกระจายยาขององค์การเภสัชกรรม เข้าสู่ระบบค้าปลีกผ่านร้านขายยาได้อีกมาก

Back to top button