จบดีล BCP ซื้อ ESSO ปิดตำนานปั๊มน้ำมันตราเสือ

ปิดดีลแล้วสำหรับ BCP ในการเข้าซื้อกิจการ ESSO โดยกระบวนการทุกขั้นตอนจะแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2566 นี้


เส้นทางนักลงทุน

ปิดดีลแล้วสำหรับ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ในการเข้าซื้อกิจการ บมจ.เอสโซ่ ประเทศไทย (ESSO) โดยกระบวนการทุกขั้นตอนจะแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2566 นี้

ดีลบางจากซื้อหุ้นเอสโซ่เริ่มขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภายหลังมีกระแสข่าวแพร่สะพัดในช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ว่าบางจากเตรียมจะนำเรื่องนี้เสนอเข้าบอร์ดบริหารของบริษัทภายในต้นเดือนมกราคม

ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2566 ที่ประชุมบอร์ดบริหารบางจากมีมติอนุมัติพร้อมลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นของเอสโซ่ ประเทศไทย จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. จำนวน 2,283,750,000 หุ้น หรือคิดเป็น 65.99% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด

บทสรุปสุดท้ายของดีลซื้อกิจการครั้งนี้ บางจากจะใช้เงินกว่า 2.26 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อหุ้นเอสโซ่ที่ราคาเฉลี่ย 9.8986 บาทต่อหุ้น จากมูลค่ากิจการของเอสโซ่ที่มีการประเมินกันไว้ก่อนหน้านี้ 5.55 หมื่นล้านบาท โดยได้ชำระราคาค่าหุ้นสามัญให้กับเอสโซ่เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566

ส่วนขั้นตอนต่อไปบางจากจะทำการตั้งโต๊ะรับซื้อ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) หุ้นเอสโซ่จากนักลงทุนรายย่อยอีก 34% ณ ราคาเดียวกัน ซึ่งจะดำเนินการระหว่างวันที่ 8 กันยายน-12 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้หากนับรวมในส่วนนี้ด้วย เท่ากับบางจากจะใช้เงินราว 3.4-3.5 หมื่นล้านบาท (กรณีรายย่อยขายทั้ง 100%) ในการซื้อหุ้นเอสโซ่

ล่าสุดบางจากได้ขอกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ วงเงินรวมไม่เกิน 3.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินสำหรับการเข้าซื้อหุ้นเอสโซ่จาก ExxonMobil Asia Holding Pte. Ltd. และวงเงินสำหรับการทำคำเสนอซื้อหุ้นเอสโซ่ส่วนที่เหลือจากผู้ถือหุ้นรายย่อย รวมทั้งจะใช้แหล่งเงินทุนของบริษัทเองอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเข้าทำธุรกรรมซื้อหุ้นในครั้งนี้

ณ สิ้นไตรมาส 2 เงินสดของบางจาก (งบเดียว) มีประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ถ้าสามารถทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ได้ทั้ง 100% อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) น่าจะจะอยู่ราว ๆ 1.3 เท่า ยังไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ 2 เท่า

สิ่งที่บางจากจะได้มาภายหลังการเข้าซื้อกิจการเอสโซ่ในครั้งนี้ มีสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องคือ โรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งมีกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 700 แห่ง ช่วยให้เกิดการประหยัดเชิงขนาดและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนของบริษัท

นอกจากนี้ บางจากจะมีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 294,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้มีสถานะเป็นโรงกลั่นขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีเครือข่ายสถานีบริการรวมเป็น 2,150 แห่ง หรือคิดเป็น 7.4% ของจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งหมด

มีการประเมินว่าดีลบางจากเข้าซื้อกิจการเอสโซ่นี้ จะสามารถคืนทุนให้กับบางจากได้ภายในระยะเวลา 4-5 ปี แถมจะสร้าง Synergy ให้เกิดขึ้น 2-3 พันล้านบาทต่อปีด้วย

รวมทั้งดีลนี้จะมีของแถมให้กับบางจากเพิ่มอีก เป็นกำไรพิเศษจากมูลค่าที่ดินกว่า 800 ไร่ ที่จะรับรู้เป็นกำไรในช่วงไตรมาส 3 นี้ โดยมีการประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ 5,000-10,000 ล้านบาท

ภายหลังเข้ามาเป็นเจ้าของเต็มตัว บางจากจะทยอยรีแบรนด์ปั๊มน้ำมันเอสโซ่ทั้งหมดให้เป็นปั๊มน้ำมันบางจากภายในระยะเวลา 2 ปี

ปั๊มน้ำมันเอสโซ่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน โดยมีจุดเริ่มต้นจากเมื่อปี 2437 บริษัท แสตนดาร์ด ออยล์ แห่งนิวยอร์ก ได้เข้ามาเปิดสาขาแรกในประเทศไทยที่ตรอกกัปตันบุช (ซอยเจริญกรุง 30 ในปัจจุบัน) ทำธุรกิจจำหน่ายน้ำมันก๊าด ตราไก่ และ ตรานกอินทรี

ต่อมาได้ร่วมกับบริษัท แว๊คคั่มออยล์ จัดตั้งบริษัท โซโกนีแว๊คคั่ม คอร์ปอเรชั่น เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่นก่อนจะไปร่วมทุนกับบริษัท แสตนดาร์ด ออยล์ (นิวเจอร์ซี) และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัท แสตนดาร์ดแว๊คคั่มออยล์ จำกัด

จากนั้นในปี พ.ศ. 2508 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด กระทั่งในปี พ.ศ. 2510 มีการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันด้วยการซื้อโรงงานจากบริษัท ยางมะตอยไทย จำกัด เพื่อตั้งโรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ ศรีราชา และต่อมาปี 2519 ได้ขยายโรงกลั่น ครั้งที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 46,000 บาร์เรลต่อวัน

พร้อมทั้งตั้งบริษัท เอสโซ่ เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ เมื่อปี 2522 โดยได้รับสัมปทานการสำรวจและขุดเจาะหาพลังงานบนแหล่งที่ราบสูงโคราช และพบก๊าซธรรมชาติที่หลุมน้ำพอง จ.ขอนแก่น

การปิดดีลบางจากซื้อหุ้นเอสโซ่ครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการปิดตำนานปั๊มน้ำมันตราเสือที่อยู่ในประเทศไทยมายาวนาน 129 ปี

Back to top button