ANI จ่อขาย “ไอพีโอ” 554 ล้านหุ้น รุกสู่ผู้นำ GSA เอเชีย

“เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล” หรือ ANI เตรียมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย รุกสร้างเครือข่ายสู่การเป็นผู้นำธุรกิจ GSA ในภูมิภาคเอเชีย ตั้งเป้าปี 66-68 โตเฉลี่ยปีละ 30%


บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI ผู้นำธุรกิจตัวแทนขายและบริหารพื้นที่ขนส่งสินค้าทางสายการบิน (Cargo General Sales Agent หรือ GSA) ที่มีเครือข่ายการให้บริการกับสายการบินชั้นนำกว่า 20 สายการบิน ใน 8 ประเทศและเขตบริหารพิเศษทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง และจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศ (air cargo hub) ของภูมิภาค

โดยมีจุดหมายปลายทางที่ครอบคลุมมากกว่า 400 แห่งทั่วโลก พร้อมด้วยศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกของธุรกิจ GSA เผยผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2566 มีรายได้รวม 2,668.6 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 431.9 ล้านบาท เติบโต 17.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 554,738,900 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 30.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

นางสาวบี เล็ง โก๊ะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ANI เปิดเผยว่า ANI เป็นผู้นำธุรกิจตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบิน (GSA) ให้แก่สายการบินชั้นนำกว่า 20 สายการบินใน 8 ประเทศและเขตบริหารพิเศษ

ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งล้วนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่สำคัญของภูมิภาค ครอบคลุมเส้นทางการบินซึ่งมีจุดหมายปลายทางกว่า 400 แห่งในทุกภูมิภาคทั่วโลก

โดย ANI เป็นผู้ประกอบธุรกิจ GSA รายใหญ่รายเดียวของประเทศไทย ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกว่า 23% (อ้างอิงจากข้อมูลปริมาณการขนส่งสินค้าผ่าน GSA ในปี 2565 ของ Frost & Sullivan) และยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสายการบินชั้นนำอย่างยาวนานด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปีในการให้บริการที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพ ตลอดจนมีความสามารถในการปรับกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า เช่น ตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้า (Freight Forwarder)

ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งเป็นตัวกลางให้แก่ผู้บริโภคทอดสุดท้าย (End User) ผ่านการบริหารจัดการที่นำโดยคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์กว่า 35 ปีในอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศ นอกจากนี้ ANI ยังมี Ecosystem ที่แข็งแกร่งผ่านความร่วมมือกับบริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ANI และเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรของประเทศไทยที่ประกอบธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานขนส่งสินค้าเดียวกัน โดย ANI นับเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ GSA ระดับภูมิภาครายแรกและรายเดียวที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)”

โดยปัจจุบันภาพรวมของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฮ่องกง มีแนวโน้มการเติบโตในระดับสูง โดยมีอัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่ง 7.8% ต่อปีระหว่างปี 2565 – 2570 ด้วยปัจจัยสนับสนุนเชิงบวก ทั้งแนวโน้มการเติบโตของความต้องการขนส่งสินค้า E-commerce ระหว่างประเทศและความต้องการของสินค้ามูลค่าสูงที่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ธุรกิจ GSA มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงกว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ ในอัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่ง 10.3% ในช่วงปี 2565-2570 เนื่องจากสายการบินมีแนวโน้มในการพึ่งพาผู้ให้บริการ GSA มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการในการลดต้นทุนในการดำเนินงาน (อ้างอิงจากข้อมูลอุตสาหกรรมในประเทศไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา จาก Frost & Sullivan)

ธุรกิจ GSA มีบทบาทเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศและมีศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสายการบินมีแนวโน้มในการพึ่งพาผู้ให้บริการ GSA มากขึ้นเพื่อให้สามารถขายระวางสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขยายการให้บริการขนส่งสินค้าของตนเองไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สำนักงานใหญ่ โดยอาศัยผู้ให้บริการ GSA ที่มีความรู้ ประสบการณ์ และเครือข่ายกับลูกค้าในแต่ละประเทศ และสามารถดำเนินการด้วยต้นทุนที่ต่ำและรวดเร็วกว่าการจัดตั้งสำนักงานและดำเนินการด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งสายการบินหลายแห่งให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนและหันมาใช้บริการ GSA มากขึ้น” นางสาวบี เล็ง โก๊ะ กล่าว

สำหรับ ANI มุ่งมั่นในการสร้างเครือข่ายสู่การเป็นผู้นำธุรกิจ GSA ในภูมิภาคเอเชีย และมีเป้าหมายในการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ของรายได้ในปี 2566 – 2568 ที่ประมาณร้อยละ 30 ต่อปี (อ้างอิงจากสภาวะตลาด อัตราค่าระวาง และแนวโน้มอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2566) โดยมีเป้าหมายในการจัดหาสัญญาใหม่ 6 – 8 สัญญาต่อปี

โดย ANI มองหาโอกาสทางธุรกิจให้ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจหลักหรือศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศของภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ในอนาคตอันใกล้ ตลอดจนการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมภูมิภาค อื่น ๆ เช่น ยุโรป และออสเตรเลีย ในระยะยาว อีกทั้งยังพิจารณาขยายธุรกิจผ่านการเข้าซื้อกิจการและ/หรือร่วมทุนกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจ GSA และ/หรือ บริษัทที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ของธุรกิจการขนส่งทางอากาศ  นอกจากนี้ ANI อาจพิจารณาดำเนินการนำเสนอผลิตภัณฑ์ GSA ของตนเอง ผ่านทางการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ ในอนาคต เพื่อสร้างความยั่นยืนในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ANI มีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ผ่านความสามารถในการปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตของผลกำไรอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 7,744.1 ล้านบาท เติบโตด้วยอัตราเฉลี่ย (CAGR) 26.5% ต่อปี และมีกำไรสุทธิ 797.6 ล้านบาท เติบโตด้วยอัตราเฉลี่ย (CAGR) 23.3% ต่อปี (CAGR 2563 – 2565)

ทั้งนี้ ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ANI ยังสามารถสร้างการเติบโตผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านความสามารถในการเข้าทำสัญญาให้บริการ GSA ขนาดใหญ่เพิ่มเติมในหลากหลายประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้มากขึ้น รวมทั้งกลยุทธ์ในการรักษาความสามารถในการทำกำไรจากการกำหนดราคาขายที่เหมาะสมและควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้รวม 2,668.6 ล้านบาท และกำไรสุทธิ  431.9 ล้านบาท เติบโต 17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิที่สูงถึง 16.2% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารธุรกิจตลอดช่วงที่สภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ ANI ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุนครั้งนี้ก็เพื่อนำเงินไปใช้ปรับโครงสร้างทางการเงินจากการซื้อธุรกิจ GSA ในสิงคโปร์และมาเลเซียในช่วงปลายปี 2565 ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อการเติบโตของบริษัทฯ ในอนาคต

Back to top button