ดาวโจนส์ปิดร่วง 367 จุด! จากแรงเทขายหุ้นแบงก์-วิตกราคาน้ำมัน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลดลงเป็นวันที่สองติดต่อกันเมื่อคืนนี้ (18 ธ.ค.) เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาด โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารถูกเทขายหนัก เหตุนักลงทุนกังวลว่าแบงก์ต่างๆที่ปล่อยกู้ให้บริษัทพลังงานจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานไปด้วย


สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 367.29 จุด หรือ 2.10% ปิด (18 ธ.ค.) ที่ 17,128.55 จุด, ดัชนี S&P500 ร่วงลง 36.34 จุด หรือ 1.78% ปิดที่ 2,005.55 จุด และดัชนี NASDAQ ลดลง 79.47 จุด หรือ 1.59% ปิดที่ 4,923.08 จุด

ทั้งนี้ ดาวโจนส์ร่วงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. หรือในรอบสามเดือน และปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบสองเดือน ขณะที่ระดับปิดของดัชนี S&P ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือนต.ค. สำหรับตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.8% S&P ลดลง 0.3% Nasdaq ลบ 0.2% ตลาดหุ้นสหรัฐถูกเทขายอย่างหนักต่อเนื่องเป็นวันที่สองในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนกลัวว่า ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงอาจส่งผลกระทบต่อบรรดาธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทพลังงาน

ขณะที่ ราคาน้ำมันปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่สาม หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าสต็อกน้ำมันสหรัฐพุ่งขึ้นใกล้แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันภาวะอากาศที่ไม่หนาวมากในปีนี้ ก็ได้ลดอุปสงค์สำหรับการใช้น้ำมันที่ให้ความอบอุ่น ราคาสัญญาน้ำมันดิ่งลงราว 40% แล้วในปีนี้ หลังจากที่ภาวะน้ำมันล้นตลาดยังไม่มีแนวโน้มเบาบางลง

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาด 4.8 ล้านบาร์เรลในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล การเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐของ EIA สอดคล้องกับการรายงานของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (API) ที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาด 2.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์นั้น บริษัทมาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นสำหรับภาคบริการของสหรัฐ ชะลอตัวสู่ระดับ 53.7 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในปีนี้ ลดลงจากตัวเลขเดือนพ.ย.ที่ระดับ 56.1

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐยังได้รับปัจจัยลบจากตลาดหุ้นในต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า โดยในเอเชียนั้น ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวร่วงลงอย่างหนักถึง 1.90% โดยตลาดเคลื่อนตัวผันผวนหลังจากที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สิ้นสุดลง ท่ามกลางการตีความในทิศทางที่หลากหลายว่า มาตรการล่าสุดของ BOJ ยังถือเป็นการผ่อนคลายการเงินต่อไปหรือไม่

ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมถึงพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่ขานรับไปก่อนหน้านี้ ด้านนักวิเคราะห์เชื่อว่า ตลาดหุ้นจะเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงนี้ เนื่องจากนักลงทุนในตลาดยังคงพยายามวิเคราะห์ถึงผลดี-ผลเสียของการขึ้นดอกเบี้ยในรอบเกือบ 10 ปีของเฟด

หุ้นลบนำโดยหุ้นกลุ่มการเงินที่ร่วงลง 2.5% และกลุ่มเทคโนโลยีที่ร่วงลง 2% โดยหุ้นธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเวลส์ ฟาร์โก แอนด์ โค, ซิตี้กรุ๊ป อิงค์ และแบงก์ ออฟ อเมริกา ต่างร่วงลงกว่า 3%

Back to top button