BGRIM จับมือ “สอศ.-มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย” ปั้นแรงงานรองรับภาคอุตฯ-บริการ
BGRIM ให้การสนับสนุนความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย ดำเนินโครงการเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนายปิยบุตร ชลวิจารณ์ รองประธานกรรมการและประธานอำนวยการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) แสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยมีพันธมิตรที่มุ่งมั่นในการเสริมสร้างการฝึกอบรมวิชาชีพในประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย
ประกอบด้วย บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM มูลนิธิแคทเทอร์พิลลาร์ มูลนิธิซิตี้ และบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จํากัด และวิทยาลัยอาชีวศึกษาภายใต้โครงการความร่วมมือ เข้าร่วมงาน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีวศึกษาของประเทศไทย โดยการสร้างแรงงานที่พร้อมสำหรับอนาคต เพื่อการสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวทันความต้องการของอุตสาหกรรมสมัยใหม่
นายเกรียงไกร อยู่ยืน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรบุคคล BGRIM เปิดเผยว่า บี.กริม เพาเวอร์ ได้ให้การสนับสนุนโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ โดยร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ริเริ่มโครงการสอนทางเทคนิคและการเรียนรู้สำหรับช่างเทคนิคอุตสาหกรรม 4.0 หรือ SKILLS4TECH (กันยายน 2566 – สิงหาคม 2567)
โดยร่วมมือกับโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ มุ่งส่งเสริมแนวทางการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้กับครูผู้สอน พร้อมกับการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์จำลองเกี่ยวกับ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์) ซึ่งเป็นชุดทักษะของอนาคต โดยเน้นการผสมผสานเทคโนโลยี การเรียนแบบผสมผสาน (blended learning) และการเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้าน STEM และทักษะของศตวรรษที่ 21 ในห้องเรียน
“โครงการนี้มุ่งเสริมสร้างมาตรฐานอาชีวศึกษาทวิภาคี พัฒนาการดำเนินการสอนสำหรับอาจารย์ผู้สอน เตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีทักษะ STEM รวมทั้งเสริมสร้างความสามารถในการสอนของครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในการสร้างทักษะ STEM และทักษะในศตวรรษที่ 21” นายเกรียงไกร กล่าว
กลยุทธ์ของ BGRIM ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์องค์กร มุ่งเพิ่มขีดความสามารถให้กับโลกด้วยความโอบอ้อมอารีย์ ประกอบด้วยทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับการสร้างมูลค่าและรากฐานที่มุ่งเน้นความยั่งยืนที่แข็งแกร่ง โดยการส่งมอบการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวและผลกระทบเชิงบวกต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าอย่างยุติธรรมและเสมอภาค ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ส่งเสริมผู้คน ชุมชน และสังคมด้วยความโอบอ้อมอารีย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการดำเนินการของ บี.กริม เพาเวอร์ พร้อมตระหนักถึงโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็วและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
สำหรับโครงการของพันธมิตรรายอื่นๆ ประกอบด้วย โครงการ Closing the Technician Skills Gap โดยมูลนิธิแคทเทอร์พิลลาร์ (มกราคม 2566 – ธันวาคม 2568) มุ่งหวังที่จะส่งเสริมทั้งครูและนักเรียนสายช่างเทคนิค ผ่านการเพิ่มพูนทักษะ การขยายขอบเขตความรู้และการตระหนักในระบบการควบคุมอุตสาหกรรม (Mechatronics) โครงการ Citi Youth Employability Skills and Pathways โดยมูลนิธิซิตี้ (พฤศจิกายน 2565 – ตุลาคม 2566) มุ่งเน้นเสริมสร้างโอกาสของนักเรียนที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับวิชาชีพและผู้ที่มีสภาพเศรษฐกิจที่จำกัด โครงการ Learning for Life Enhancement โดยดิอาจิโอ (กันยายน 2566 – สิงหาคม 2567) มุ่งเพิ่มทักษะของนักเรียนและบุคคลที่ว่างงาน
รวมถึงผู้หญิงที่ขาดโอกาส ผู้ซึ่งต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการทั่วไปในประเทศไทย และโครงการ Women in STEM โดยเจ.พี. มอร์แกน (สิงหาคม 2565 – สิงหาคม 2567) มุ่งเน้นการเสริมทักษะทางวิชาชีพ การเตรียมความพร้อมในการทำงาน และทักษะชีวิตของนักศึกษาหญิงสายช่างเทคนิค ผ่านกระบวนการฝึกงาน การฝึกอบรม และการให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาหญิงสำหรับอาชีพด้าน STEM
โครงการความร่วมมือทั้งหมดนี้และวิสัยทัศน์ร่วมกันของ คณะกรรมการการอาชีวศึกษาและมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ร่วมกับพันธมิตรหลัก จะทำให้ภูมิภาพอาชีวศึกษาในประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ความก้าวหน้าที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และความมุ่งหวังที่จะสร้างแรงงานที่มีความสามารถ ครบถ้วน และสามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความท้าทาย รวมถึงความต้องการของอุตสาหกรรมสมัยใหม่